วันที่ 7 ก.พ. 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์และยังสามารถควบคุมได้ แม้จะมีการติดเชื้อหลักหมื่นต้นๆ แต่อัตราเสียชีวิตค่อนข้างคงตัว ระบบสาธารณสุขในปัจจุบันยังรองรับได้ และถึงการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ติดแล้วอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่การไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ยังคงเคร่งครัดในมาตรการทางสาธารณสุข รวมถึงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังฉีดเข็มที่ 2 ครบ 3 เดือนแล้ว
ในส่วนของผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. – 5 ก.พ. 2565 ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานมียอดผู้ติดเชื้อรวม 62,032 ราย โดยวิเคราะห์รายละเอียดผู้ติดเชื้อพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-49 ปี
สำหรับปัจจัยเสี่ยงผู้ติดเชื้อในประเทศ แบ่งเป็น คลัสเตอร์ต่างๆ ไปสถานที่เสี่ยง และอื่นๆ 48.4%, ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด 47.3%, บุคลากรทางการแพทย์ 0.7% และผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้วไปยืนยันด้วย RT-PCR อีก 3.6% ในส่วนของอาการป่วยจากข้อมูล 32,758 ราย พบว่ามีอาการป่วยหรือป่วยเล็กน้อย 54.86% และไม่มีอาการ 45.1%
ทั้งนี้ คลัสเตอร์ที่ยังพบการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องมีทั้งงานเลี้ยงสังสรรค์ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช ที่แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากในแต่ละคลัสเตอร์ แต่สายพันธุ์โอมิครอนมีประสิทธิภาพแพร่กระจายสูง ทำให้มีการแพร่ไปยังครอบครัวซึ่งมีอัตราการติดเชื้อ 40-50% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาจะอยู่ที่ 10-20% พร้อมย้ำว่ามาตรการส่วนบุคคลยังป้องกันโควิดได้ทุกสายพันธุ์
ขณะที่การติดเชื้อในกรุงเทพมหานครที่วันนี้มีรายงาน 1,391 ราย ในจำนวนนี้มีคลัสเตอร์สถานดูแลผู้สูงอายุ 25 ราย และที่ประชุมในช่วงเช้าที่ผ่านมายังขอให้มีการรายงานอย่างรวดเร็วหากพบผู้ติดเชื้อเพราะอาจจะมีจำนวนค้างรายงานอยู่ราว 200-300 ราย
ทางด้านคลัสเตอร์อื่นๆ มีการรายงานดังนี้
- คลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา สระแก้ว 44 ราย, สุรินทร์ 26 ราย, ยโสธร 26 ราย, สุพรรณบุรี 20 ราย, น่าน 19 ราย, ราชบุรี 13 ราย, มหาสารคาม 11 ราย, ขอนแก่น ปราจีนบุรี จังหวัด 9 ราย, อำนาจเจริญ มุกดาหาร จังหวัดละ 5 ราย
- คลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ ชลบุรี 20 ราย, ลพบุรี 12 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 10 ราย, ปราจีนบุรี 7 ราย, สมุทรปราการ สุรินทร์ บึงกาฬ จังหวัดละ 6 ราย, อุดรธานี 5 ราย
- คลัสเตอร์งานประเพณี งานศพ อุบลราชธานี 6 ราย, มหาสารคาม 5 ราย, สงขลา 4 ราย ส่วนงานแต่ง ร้อยเอ็ด สงขลา จังหวัดละ 4 ราย, ราชบุรี 2 ราย และงานบวช ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย, ขอนแก่น 2 ราย
- คลัสเตอร์ตลาด มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด กรุงเทพมหานคร 66 ราย, ชลบุรี 29 ราย, อุบลราชธานี 23 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย, ขอนแก่น 13 ราย, น่าน 11 ราย, หนองบัวลำภู 9 ราย, ราชบุรี 8 ราย, นครราชสีมา 6 ราย, ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร จังหวัดละ 5 ราย, กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 4 ราย, เพชรบุรี 3 ราย และยังมีการกระจายไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศติดเชื้อประมาณ 1-2 คนเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ
แพทย์หญิงสุมนี ระบุต่อไปว่า การระบาดของคลัสเตอร์ตลาดที่ผ่านมาจากการสอบสวนโรคเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. สถานที่ ไม่ระบายอากาศ มีคนหนาแน่น 2. ไม่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ไม่มีจุดคัดกรองและเจลแอลกอฮอล์ 3. แรงงานในตลาดทำงานหลายที่ มีการเคลื่อนย้ายค่อนข้างบ่อย อาจจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อและแพร่ระบาดไปยังผู้มาใช้บริการได้ จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะการติดเชื้ออาจจะมาจากการสัมผัสธนบัตร ผักผลไม้ ถุงพลาสติก ป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือจ่ายเงินแบบออนไลน์ อยู่ในสถานที่ที่คนไม่แออัดให้ได้มากที่สุด.