เช้านี้ที่หมอชิต – ชาวบ้านทยอยกลับเข้าบ้านสำรวจความเสียหายกันแล้ว ส่วนพื้นที่น้ำลด ทางจังหวัดฯ แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังอันตรายจากแนวตลิ่งทรุด
แม่น้ำมูลลด เริ่มเปิดถนนให้รถสัญจร จ.อุบลราชธานี
แม่น้ำมูล วัดระดับน้ำที่บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี ช่วงเย็นวานนี้ ลงอีก 13 เซนติเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งลดตาม เหลือ 3 เมตร 26 เซนติเมตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังทั้งอำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ เริ่มคลี่คลายลง
ส่วนเส้นทางที่เคยถูกน้ำท่วม เริ่มกลับมาใช้งานได้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยเมื่อวานนี้ ตำรวจจราจร สภ.เมืองอุบลราชธานี ไปช่วยกันเคลื่อนย้ายตอไม้และเศษวัชพืชที่ลอยมากับกระแสน้ำ เพื่อเปิดเส้นทางจราจรบนถนนสายเลี่ยงเมือง 231 ฝั่งตะวันตก เส้นทางเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองและวารินชำราบ
เจ้าหน้าที่แจ้งกฎเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาบ้านน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี
ชาวบ้านในหลายชุมชนและอยู่ในที่ลุ่มต่ำ ยังมีน้ำท่วม บางจุดกระแสน้ำยังเชี่ยว ต้องนำเชือกขึงเป็นแนว และเดินลุยน้ำเข้าไป เพื่อสำรวจความเสียหายของบ้านตัวเอง ซึ่งทางจังหวัดฯ จะชดเชยให้หลังละไม่เกิน 49,000 บาท ตามความเสียหายจริง
ระวัง น้ำลดดึงตลิ่งทรุด จ.อุบลราชธานี
สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ทางจังหวัดฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเตือนฝ่ายปกครองท้องถิ่นใน 9 อำเภอ ที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางไหลผ่านของแม่น้ำชี แม่น้ำมูล หรือลำน้ำสาขา ระวังแนวตลิ่งทรุดตัวจากดินชุ่มน้ำมาเกือบ 2 เดือน เพราะก่อนหน้านี้ รับแจ้งว่า เกิดดินไหล ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ริมแม่น้ำพังลงมาหลายหลัง
แม่ทัพภาคที่ 2 ส่งทหารทำสะพานแบริง จ.กาฬสินธุ์
ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ถนนที่เป็นพนังกั้นแม่น้ำชี บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย ที่ขาดและส่งผลดีให้น้ำที่ท่วมขังระบายได้เร็วขึ้น แต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถใช้สัญจรได้ ทางจังหวัดฯ ได้ประสานไปที่ มทบ.23 เพื่อสร้างสะพานแบริง ให้ชั่วคราวก่อน ซึ่งเมื่อวานนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อประเมินและวางแผนแล้ว
ส่วนถนนกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ที่ถูกน้ำท่วมสูงและปิดการจราจรมากว่า 2 สัปดาห์ เริ่มเปิดใช้ได้บางช่วงแล้ว จากการเร่งระบายลงแม่น้ำชี คาดว่าไม่เกิน 2 วัน จะเปิดการสัญจรได้ตลอดเส้นทาง
แม่น้ำชีล้น ท่วมหนัก 2 อำเภอ จ.ร้อยเอ็ด
พื้นที่อำเภอจังหารรอยต่อกับอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับมวลน้ำมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเดิมทั้ง 2 อำเภอน้ำก็ท่วมสูงอยู่แล้ว กลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น เดือดร้อนทั้งชาวบ้านที่อพยพออกไปแล้ว กลับเข้าบ้านยากขึ้น ส่วนที่อยู่เฝ้าบ้าน ก็ออกลำบาก
จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น 1 ในอีกหลายจังหวัด ที่อยู่พื้นที่รับน้ำร่วมกับจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เจอสถานการณ์น้ำหนุนจากแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง ส่งผลให้การระบายน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้ช้า แต่คาดการว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ได้ไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายน นี้