“ดาด้า กีรดา” สาวนักกฏหมาย นิติกรกระทรวงพาณิชย์ อดีตดาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวเต็งคว้ามงกุฎนางสาวไทย ประจำปี 2565 เปิดใจเหตุผลเข้าร่วมประชันนางงามครั้งแรก อยากมาอยู่ในจุดสร้างแรงผลักดันช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
การประกวดนางสาวไทยประจำปี 2565 มีความเข้มข้นต่อเนื่อง ระหว่างที่ 24 สาวงาม เก็บตัวทำกิจกรรม ที่ จ.อำนาจเจริญ สาวงามหลายคนโดดเด่นเปล่งกาย สื่อมวลชนจับตามองว่า มีลุ้นถึงมงกุฎ ได้ดำรงตำแหน่งนางสาวไทย คนที่ 53 หนึ่งในนั้นมี ผู้เข้าประกวดหมายเลข 8 ดาด้า-กีรดา อัครปรีดี สาว จ.นนทบุรี วัย 26 ปี
ดาด้า กีรดา
ดาด้า บอกกับ Sanook Women ว่า เธอเป็นลูกคนสุดท้อง ในครอบครัวนักกฏหมาย คุณพ่อเป็นอัยการ พี่ชายสองคนเรียนจบด้านกฏหมาย ทำงานเป็นฝ่ายกฏหมายของธนาคาร และเป็นนักบิน
ตัวเธอเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ที่ New York University School of Law (NYU Law) ในสาขาเกี่ยวกับ Corporate Law หรือ กฏหมายธุรกิจ ปัจจุบันทำงานเป็นนิติกร ที่กระทรวงพาณิชย์ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน
สาวนักกฏหมาย เจ้าของส่วนสูง 165 ซม. น้ำหนัก 45 สัดส่วน 33-23-35 เล่าต่อว่า เธอเป็นเด็กเรียนควบคู่กับการทำกิจกรรม เคยเข้าร่วมประกวดเดือนดาว ได้รับเลือกให้เป็นดาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่อัญเชิญตราธรรมจักรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ และเป็นเชียร์ลีดเดอร์คณะนิติศาสตร์ เหตุผลที่เลือกเรียนกฏหมายไม่มีใครบังคับ แต่รู้สึกว่าเป็นเหตุเป็นผล เป็นเรื่องของทุกคน สอนให้คิดอย่างเป็นระบบ
ที่ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2565 เพราะนางงามเป็นหนึ่งในความฝัน คิดว่าคนเราสามารถเป็นได้หลายอย่าง นักกฏหมายเป็นได้ทั้งชีวิต เพราะเรียนและทำงานด้านกฏหมายเต็มรูปแบบ ทำเต็มที่แล้วอย่างที่นักกฏหมายคนหนึ่งจะเป็นได้ บวกกับมีเพื่อนๆ เชียร์ให้มาประกวด จึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวดนางงามครั้งแรกในชีวิต
“การเป็นนางงามสำหรับดา เป็นมากกว่านางงาม หลายคนถามว่าทำไมต้องมาประกวด ในเมื่อชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนตัวมองว่ามาตรงนี้ทำให้เสียงดังขึ้น สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ อยากมาอยู่ในจุดที่สร้างแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนสังคม”
“ที่เลือกประกวดนางสาวไทย เพราะคิดว่ามีรูปแบบตรงกับความสนใจของตัวเอง เนื่องจากเวทีเฟ้นหาทูตท่องเที่ยว และวัฒนธรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องพัฒนาการศึกษา”
“สมัยเรียนหนูเป็นเด็กเรียน เรียนกฏหมายต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก ทำให้สัมผัสได้ถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็เลยรู้สึกว่าเวทีนี้ ตรงกับบริบทของตัวเอง”
” 3 S ที่ กองประกวดมองหา Sweet, Strong, Smart คิดว่าตัวเองมีครบ และมีความเหมาะสมเรื่องเวลาที่ลงตัว ชอบดูนางงามมาตลอด พอรู้ว่าการเป็นนางงามไม่ง่าย เหนื่อยมาก แต่ก็มีเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการให้คำปรึกษา”
ดาด้า กีรดา
ดาด้า บอกต่อว่า ไม่ว่าเธอจะได้ดำรงแหน่งนางสาวไทยหรือไม่ก็ตาม เธออยากผลักดันเรื่องการศึกษาให้มีความเท่าเทียม ควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยว
“อยากผลักดันเรื่องการศึกษา เพราะว่าตัวเองทำงานในกระทรวงพาณิชย์ เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจน เรียนอินเตอร์มาตลอด พอมาทำงานที่กระทรวงฯ ก็มาเจอกับเพื่อนที่เรียนต่างจังหวัด ทำให้รู้ว่าโลกการศึกษามันยังไม่เท่ากัน”
“อยากผลักดันให้โรงเรียนในประเทศไทย มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด อย่างที่ประเทศฟินแลนด์ โรงเรียนที่ดีที่สุด คือ โรงเรียนใกล้บ้าน น่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย”
“ทำไมโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ต้องอยู่ในกรุงเทพฯ โดยรวมมองว่าเด็กไทยเก่ง มีศักยภาพ และเราน่าจะดึงความสามารถเยาวชนออกมาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ คนที่จะประสบความสำเร็จต้องจบจากโรงเรียนดังๆ ในกรุงเท่านั้นหรือ โอกาสทางการศึกษาที่เท่ากัน”
เมื่อถามว่า จะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ดีเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ดาด้า ตอบว่า ในเรื่องของการท่องเที่ยวอยากเจาะที่ละประเด็น ส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรสวยงามอยู่แล้ว
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ ทำให้ธรรมชาติได้พักผ่อนไปกว่า 2 ปี พอกลับมีความพร้อมที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาสัมผัสความสวยงามยิ่งเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นจุดเล็กๆ ให้เป็นข้อสังเกต
ดาด้า กีรดา
“อยากเพิ่มเรื่องทักษะการสื่อสารกับชาวต่างชาติ สำคัญมาก จากการทำงานที่กระทรวงฯ ทำให้รู้ว่า เวลามีการวัดมาตรฐานต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์ หรือประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเขาได้คะแนนนำโด่ง”
“สิ่งที่เขาทำอยู่ไทยทำได้ดีกว่า แต่ไทยขาดการสื่อสารให้ต่างชาติได้ทราบ ทักษะของเรามีน้อยเกินไป ถ้าเพิ่มตรงนี้ได้ ยิ้มแย้มสื่อสารได้ น่าจะทำอะไรได้มากขึ้นทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้น”
“มากไปกว่านั้นก็สนใจมองในเรื่องของไกด์ ไกด์ต้องมีใบอนุญาตในการเป็นไกด์ ถ้าอยากจะช่วยตรงนี้ อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น”
“ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ควรส่งเสริมให้มีไกด์ท้องถิ่น ซึ่งเขาเติบโตในท้องที่นั้นๆ เขาก็รู้ว่าจะถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวอย่างไร แต่ตอนนี้ในท้องถิ่นก็ยังไม่กล้าทำ เพราะยังไม่มีนโยบายรองรับ”
“นักกฏหมายก็สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้ กฏหมายก็เกี่ยวข้องกับทุกอย่าง แต่หลักๆ จะไปช่วยดูแลความปลอดภัยมากกว่า ดูแลการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างราบรื่น”
“ในเรื่องของการส่งเสริมมองว่าเป็นนโยบายทางภาครัฐ ซึ่งถ้ามีนโยบายออกมา สิ่งต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น และกฏหมายก็จะมาทำหน้าที่ควบคุมให้นโยบายดำเนินไปอย่างถูกต้อง ไม่เกิดความวุ่นวายในสังคม”
ดาด้า กีรดา
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่จับตามองว่า มีลุ้นถึงมงกุฎ ได้ดำรงตำแหน่งนางสาวไทย คนที่ 53 ดาด้า ตอบว่า เธอยังไม่คิดว่าเธอเป็นตัวเต็ง เพราะเพื่อนๆ ผู้เข้าประกวดทุกคน มีความสวย และมีความสามารถหลากหลาย มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุดบนเวทีประกวดรอบตัดสินทุกคน
“ส่วนตัวเริ่มจากศูนย์ ไม่มีประสบการณ์เรื่องนางงาม ฐานแฟนคลับ มาด้วยใจ แต่พอมีคนติดตาม และมีกระแสตอบรับ ทั้งติ และชมก็รับฟัง นำมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น”
“หลายคนให้กำลังใจ เพราะชอบที่รู้เรื่องกฏหมาย แต่ตนเองมองว่าการเป็นนางงามรู้เรื่องกฏหมายอย่างเดียวไม่พอ มีเรื่องการเดิน บุคลิกภาพ และอื่นๆ ด้วย”
“ถ้ามีแรงกดดัน ก็เป็นเรื่องกดดันที่ดี ผลักดันให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้า พยายามทำให้ดีมากขึ้นต่อเนื่อง ทุกคนมีความหวังอยากได้มงกุำ แต่กับตัวเองเหมือนได้มาลงคอร์สเรียน เปิดโลกกว้างสร้างทักษะมากมาย”
“รู้สึกสนุกทุกวัน เหนื่อยหน่อย ตรงนอนน้อย อันนี้คือเรื่องช็อค ตอนเรียนนิติฯ อ่านหนังสือตี 3 ตี 4 ว่านอนน้อยแล้ว แต่ยังตื่นสายได้ แต่เป็นนางงามตื่นมาต้องแต่งหน้าเลย กิจกรรมแน่นทุกวัน ก็ต้องมีระเบียบวินัย และสื่อสารกันให้ดี”