เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ กองพันทหารขนส่งที่ 1 บางเขน จุดอำนวยการในการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ได้ร่วมกับกองทัพบก ในการดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ถือเป็นวันแรกที่เป็นการดำเนินการ ส่วนรถบัสที่ใช้ในการขนส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับนั้นได้รับการสนับสนุนจาก จากกระทรวงคมนาคม โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.
ซึ่งวันนี้ได้ใช้รถทั้งหมด 5 คัน ส่งผู้ป่วยกลับทั้งหมด 54 ราย ประกอบด้วย ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 17 ราย ภาคอีสาน จังหวัดอำนาจเจริญ 17 ราย ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส 20 ราย
ด้าน เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่เดินทางมาดูแลความเรียบร้อย กล่าว่า ขั้นตอนการส่งกลับผู้ป่วย หลังจากผู้ป่วยประสานผ่านสายด่วน 1330
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะประสานต่อไปยังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เพื่อติดต่อหาโรงพยาบาลหรือ หาเตียงที่จังหวัดปลายทางของผู้ป่วยโควิด-19 พอได้เตียงแล้ว ก็จะแจ้งกลับมาที่ สพฉ. เพื่อคอนเฟิมว่าได้เตียงปลายทาง และก็ให้ สพฉ.จัดรถส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับ
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ทาง สพฉ. จะแจ้งผู้ป่วยโควิด-19 นัดเวลาไปรับมาขึ้นรถบัสเพื่อส่งกลับภายในวันนั้นทันที โดยก่อนจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องมีการเช็กอาการผู้ป่วยก่อนไปรับ และเมื่อมาถึงจุดรอคอยขึ้นรถ ก็เช็กอาการอีกรอบ
ถ้าประเมินแล้วว่ามีอาการแย่ลง ก็จะต้องส่งตัวไปรักษาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงระหว่างทาง เพราะหัวใจสำคัญของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับสู่ภูมิลำเนา สพฉ. จะเน้นในหลักการ 3P คือ
- Patien Safety ผู้ป่วยต้องปลอดภัย โดย สพฉ. จะทำการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อคัดเลือกผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเขียว สามารถเดินทางได้ในระยะทางไกลบนรถที่ไม่ใช่รถพยาบาล ทั้งนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น สพฉ. ได้จัดให้มีการเตรียมการประสานรองรับตามจังหวัดต่างๆที่รถเดินทางผ่าน
- Personal Safety คือความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่ง สพฉ.ได้จัดให้มีการฝึกอบรมการสวมใส่และถอดชุด PPE อย่างถูกต้อง รวมถึงตรวจสอบการจัดเตรียมรถให้ปลอดภัยต่อพนักงานขับรถ
- Public Safety คือ ความปลอดภัยต่อสาธารณะ สพฉ. ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทหารขนส่ง ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ในการจัดสถานที่สำหรับเป็นจุดพักคอยเพื่อขึ้นรถแก่ผู้ป่วย โดยมีอาคารที่พัก ห้องสุขา ห่างจากชุมชน และในระหว่างทางหากจะหยุดพัก ก็จะมีการประสานกับกองทัพบก เพื่อเข้าพักในจุดที่จุดเตรียมไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ในภารกิจครั้งนี้ เนื่องจาก รพ.ในกทม.เตียงเต็ม และหลายคนต้องรักษาตัวที่บ้าน แบบโฮมไอโซเลชั่น และก็เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาและแบ่งเบาภาระของกทม. เพราะในต่างจังหวัดน่าจะมีเตียงที่ยังรองรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดงได้ จึงได้ส่งกลับรักษาที่ภูมิลำเนาด้วย
ส่วนรถที่ บขส.จัดเตรียมมาอำนวยความสะดวกนั้น จะมีการกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถกับห้องของผู้โดยสาร และปรับระบบปรับอากาศบนรถ รวมถึงมีการนำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วย