วันอังคาร ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
อุตุฯเตือนรับมือ
ฝนถล่ม 25 จังหวัดถึง 21 ก.ย.นี้
ปภ.ชี้ยังคงมีน้ำท่วมรวม 12 จว.
กรมชลฯสูบน้ำช่วยพื้นที่กทม.
อุตุฯ เตือนฝนตกหนักถึง 21 กันยายนนี้ พื้นที่ 25 จังหวัดทั่วไทยรับมือน้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก ด้าน ปภ.ชี้ยังมีพื้นที่ประสบภัย 12 จังหวัด ขณะที่กรมชลฯ ระดมสูบน้ำลงอ่าวไทย เร่งระบายช่วยน้ำท่วม กทม.
เมื่อวันที่ 19 กันยายน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 9 เรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 19 – 21 กันยายน 2565)” ดังนี้
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทำให้ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล โดยมีฝนตกหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ดังนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และกาญจนบุรีภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง รวม 35 จังหวัด และกทม.รวม 95 อำเภอ 212 ตำบล 805 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,957 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย (อุดรธานี) ไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม ปทุมธานี สมุทรปราการ และจันทบุรี รวม 11 อำเภอ 23 ตำบล 119 หมู่บ้าน และกทม.รวม 12 เขต 17 แขวง ปัจจุบันภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง
ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ทำให้ยังคงมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 114 ตำบล 616 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย และระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลขณะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกทม.โดยกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.นครนายก ช่วยเร่งระบายน้ำในคลองหกวาสายล่าง ซึ่งรับน้ำมาจากพื้นที่ชั้นในของ กทม.และ จ.ปทุมธานี ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำนครนายก ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกทม.และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นฤดูฝน เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
ที่ จ.เลย ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่ายังคงมีบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหาย นอกจากนี้ยังพบว่าบ่อขยะ บ้านโคกสว่าง ต.ศรีสองรัก อ.เมือง จ.เลย ได้ถูกน้ำท่วมสูง 40-50 เซนติเมตร ทำให้การจัดการขยะลงบ่อและนำไปฝังกลบ ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทางเทศบาลเมืองเลย ได้นำรถแบ็กโฮ มาขุดกองขยะจำนวนมาก เพื่อเปิดทางระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องสูลน้ำ เร่งแก้ปัญหา
นายนิคม สุระเกตุ ปลัดเทศบาลเมืองเลย กล่าวว่า ช่วงนี้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาขยะได้เนื่องจากฝนที่ตกแล้วท่วมขังที่บ่อขยะดังกล่าว จึงทำได้เพียงสูบน้ำออก ส่วนบ่อที่ขุดไว้ 4 บ่อ ด้านข้าง ได้ทำคันดินไว้เพื่อให้พอที่จะนำขยะมาทิ้งได้แม้ว่าจะไม่เพียงพอรองรับปริมาณขยะ
ขณะเดียวกัน บนถนนสายบ้านม่วงใหญ่-บ้านดอนจำปา ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากแม่น้ำชี ได้เอ่อเข้าท่วมเส้นทาง เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 30-50 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรด้วยความยากลำบาก โดยสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.โกสุมพิสัย นั้น เป็นเพราะเป็นพื้นที่รับน้ำแห่งแรกจากแม่น้ำชี โดยระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากฝนตกสะสมตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และน้ำเหนือจาก จ.ชัยภูมิและเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระบายน้ำออก ซึ่งหากฝนยังตกมาอีก ระดับน้ำในแม่น้ำชี จะเพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลให้หมู่บ้านหนองขนวน บ้านม่วง และบ้านดอนจำปา ถูกตัดขาด ต้องใช้เรือในการสัญจรเพียงอย่างเดียว
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.มหาสารคาม รายงานว่ามีน้ำท่วมใน อ.โกสุมพิสัย 2 ตำบล ได้แก่ ต.โพนงาม และ ต.ยางท่าแจ้ง ที่บ้านหนองบัวเรียน น้ำท่วมบ้านเรือน 4 หลังคาเรือน โดยประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงแล้ว
ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายหลังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนในปริมาณ 1,989 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ตามคลองสาขาและแม่น้ำน้อย ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้นชาวบ้านใน ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนสูงกว่า 2 เมตร โดยเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้วที่ต้องประสบภัยน้ำท่วม
ทั้งนี้ สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว 6 อำเภอ 82 ตำบล 475 หมู่บ้าน 22,323 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,418 ไร่