วันพุธ ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2563, 17.54 น.
อำนาจเจริญเดินหน้า ต่อยอดงานวิจัยความยากจน สู่การปฏิบัติ
โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดกิจกรรม “เวทีออกแบบการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดอำนาจเจริญ” ณ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีตัวแทนจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ รวมถึงตัวแทนหน่วยงานราชการส่วนจังหวัด ส่วนอำเภอ หอการค้าจังหวัด และภาคประชาสังคมเข้าร่วม โดยมีนายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน
รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงผลการดำเนินการในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนจนในระดับครัวเรือนไปแล้ว 483 ราย (จากคนจนเป้าหมาย 2,000 ราย) และกำหนด 2 พื้นที่นำร่อง (Pilot Project) เพื่อพัฒนาโมเดลแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของจังหวัดอำนาจเจริญ คือ
(1) บ้านหนองทับม้า อ.เสนางคนิคม (คนจนชนบท) เป็นการฟื้นฟูระบบธนาคารข้าว ในรูปแบบ “กองบุญข้าวปันสุข” ที่มีการระดมทุนจากทุกภาคจัดหาข้าวให้คนจน กับการจับคู่คนจนกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น หรือ พอช. ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
(2) ชุมชนสุขสำราญ อำเภอเมือง (คนจนเมือง ) ประกอบด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพผ่านระบบ “กองบุญชุมชนเพื่อการพัฒนาอาชีพและการลงทุนสำหรับคนจน” การฟื้นฟูแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งอาหาร การปรับปรุงระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อให้คนจนเข้าถึงได้ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย (รูปแบบเดียวกับ Pilot Project ที่บ้านหนองทับม้า)
นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ซึ่งเป็นภาคีร่วมวิจัย กล่าวเสริมว่า นอกจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ(พมจ.อำนาจเจริญ) จะนำข้อมูลทั้ง 483 รายไปสอบทานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายของ พมจ.เพื่อให้ความช่วยเหลือในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ต่อไปแล้ว ยังมีการเข้าไปช่วยเหลือคนจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปแล้ว 4 ราย
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล ผู้อำนวยการ พอช.ภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ทาง พอช. ได้กำหนดแนวทางสนับสนุนการนำข้อมูลจากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ไว้หลายประการ ตั้งแต่ (1) นำไปสอบทานกับข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการบ้านพอเพียง เพื่อให้เข้าถึงสิทธิดังกล่าว (2) เชื่อมต่อข้อมูลกับกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อตั้งเป็นงบไปสมทบกับเงินที่เก็บจากสมาชิกในชุมชน เพื่อจ่ายช่วยเหลือคนจนกลุ่มนี้ อีกทั้งยังมีการทำหนังสือถึง อบต.เทศบาล เพื่อให้ร่วมสมทบกองทุนนี้เพิ่มเติมอีกด้วย (3) การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้แก่คนจน และ (4 ) การส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชน จัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนระดับตำบล และบูรณาการแผนระดับอำเภอ และเสนอเป็นแผนระดับจังหวัด
นายภูดิศ ชนะวรรณโณ นายอำเภอเสนางคนิคม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการนำร่อง (Pilot Project) การแก้ปัญหาความยากจนฯจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เน้นการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการดูแลซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ขณะที่นายวินัย มีชัย ประธานหอการค้าจังหวัด ต้องการเน้นการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มโอกาส และเพิ่มช่องทางด้านอาชีพและการสร้างรายได้ใหม่ๆ โดยกล่าวว่า ภาคเอกชนในจังหวัดพร้อมที่จะเข้าร่วมสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ด้านตัวแทนจากสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดที่เข้าร่วมรับฟัง ได้ตอบรับที่จะนำข้อมูลจากงานวิจัยไปสู่ระบบการช่วยเหลือของหน่วยงาน ทั้งระยะเร่งด่วน เช่น การประสานกับท้องถิ่นเพื่อดำเนินการช่วยเหลือในทันที (ผ่านงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), การส่งต่อให้นักบริบาลชุมชนลงไปให้การดูและช่วยเหลือกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงการเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการช่วยเหลือระยะยาว เช่น การนำไปหารือเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
ส่วนข้อเสนอจากตัวแทนภาคประชาสังคม มีตั้งแต่การช่วยเหลือคนจนที่ไม่สามารถส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในกลไกการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยของจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และที่สำคัญคือการนำข้อมูลจากการวิจัยไปประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดปี 66-70 โดยกำหนดเป้าหมายและการใช้งบประมาณที่ชัดเจนและตรงจุด
อนึ่ง งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างระบบการคัดกรองและช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือของภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งพัฒนาโมเดลการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็น ตรงกับความสนใจและความต้องการของคนจนในแต่ละพื้นที่ และในอนาคตจะมีการส่งต่อข้อมูลสร้างระบบช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมไป ซึ่งพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, ยโสธร, สกลนคร, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, แม่ฮ่องสอน, ชัยนาทและปัตตานี
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม [email protected] และ [email protected]