ภูมิภาค
อำนาจเจริญจัดตั้งธนาคารปลากระดี่ ป้องกันโรคไข้เลือดออก
วันเสาร์ ที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 13.23 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
โรคไข้เลือดออก มักจะพบการระบาดมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำขัง จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้เป็นอย่างดี ซึ่งยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมาสู่คน และยุงลายหากินในตอนกลางวัน เริ่มตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงเย็น แต่บางครั้งก็อาจพบยุงลายออกหากินดูดเลือดในเวลาพลบค่ำ
ทั้งนี้ ยุงลาย มีสีดำสลับขาว ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งอยู่ในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน โดยใช้เวลาประมาณ 2 วัน ไข่ยุงลาย ก็จะฟักเป็นตัวอ่อน เรียกว่า ลูกน้ำ ใช้เวลาอีก 6 – 8 วัน ลูกน้ำก็จะลอกคราบ กลายเป็นตัวกลางวัย เรียกว่า ตัวโม่ง อีกราวๆ 1 – 2 วัน ตัวโม่ง ก็จะเป็นยุงลาย เฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น ที่ดูดกินเลือด
ยามนี้ เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว จึงมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว ทำให้เกิดน้ำขัง ตามภาชนะในบ้านเรือน หรือแหล่งน้ำต่างๆ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคไข้เลือดออก ทำให้มีการระบาดเป็นประจำทุกปี
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ตระหนักถึงปัญหา การระบาดของโรคไข้เลือดออก เพราะ เริ่มมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกกันบ้างแล้ว เกรงว่า จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นวงกว้าง จึงได้มีการรณรงค์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ประชาชน ช่วยกัน กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อหยุดการระบาดของโรคเลือดออก โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขับเคลื่อน ลงพื้นที่ ฉีดพ่นสารเคมี แจกจ่าย ทรายอะเบต แก่ประชาชน ใน ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ โดยร่วมกับ ประชาชนในหมู่บ้านรับผิดชอบ ช่วยกัน คว่ำน้ำขังในกะลา ภาชนะต่างๆ และจัดหาฝาปิดโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ให้ทั่วทุกครัวเรือนอีกด้วย
นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจิรญ(สสจ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดอำนาจเจริญ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 พ.ค.64 จังหวัดอำนาจเจริญ มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 15 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วย จำนวน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองอำนาจเจริญ จำนวน 9 ราย, อ.ปทุมราชวงศา จำนวน 5 ราย และ อ.ลืออำนาจ จำนวน 1 ราย ที่ผ่านมา ทุกอำเภอจัดทำ Big Cleaning Day ครอบคลุมทั้งอำเภอ สัปดาห์ละ 1 วัน รวมถึงติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังโรคตามมาตรการ 3 – 3- 1- 5 – 14 – 21 – 28 อย่างเข้มงวด เน้นย้ำการปล่อยปลากระดี่ กินลูกน้ำในทุกครัวเรือน และทุกชุมชน/หมู่บ้าน ที่เป็นไฮไลท์ ก็คือ จัดตั้งธนาคารปลากระดี่ครอบคลุมร้อยละ 100 ร่วมกับ อสม. ผู้นำชุมชน ประชาชน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในรูปแบบ ปล่อยปลากระดี่ ลงตามแหล่งน้ำขังต่างๆ เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย อย่างได้ผล โดยเฉพาะ ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น และได้มอบหมายให้ นายธีระยุทธ์ มุจรินทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ออกติดตามและสร้างความเข้าใจในการควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก โดยให้จัดประชาคมหมู่บ้าน เพื่อหามาตรการทางสังคม ในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยเน้นย้ำการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนและเน้นย้ำการควบคุมโรคตามหลักการ 3-3-1-5-14-21-28 ทั่วทุกพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ประมาณ 5 – 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการของไข้เลือดออก คือ มีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วติดต่อกัน 3 – 7 วัน หน้าแดง ปวดศรีษะ บางครั้งจะปวดรอบกระบอกตา ปวดเมื่อยแขนขา ปวดกระดูก อาจมีผื่นแดงตามตัว ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ช็อก เสียชีวิตในที่สุด
ส่วนผู้ปกครอง จะต้องดูแลบุตรหลานให้ดีๆ หลีกเลี่ยงยุงกัดตอนกลางวัน เพราะอาจถูกยุงลายกัด อันนำไปสู่การเป็นโรคไข้เลือดออกได้ และหากพบ มีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที อย่านอนรักษาตัวที่บ้านเด็ดขาด ถ้าเป็นโรคไข้เลือดออกจริง จะได้รักษาได้ทันท่วงทีและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย…
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่