กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงหน้าหนาวนี้ ระมัดระวังการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วงหน้าหนาวนี้ อาจป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เลือกน้ำดื่มน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารของเด็กอย่างใกล้ชิด หลังพบว่าผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในปี 2563 กว่า 8 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
วันนี้ (15 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาวของประเทศไทย อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร น้ำ หรือน้ำแข็ง จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน และการสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วนำนิ้วเข้าปาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้
โดยสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 802,637 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมาคือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 25-34 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี มหาสารคาม อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ตามลำดับ ช่วงเดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ เดือนมกราคม
โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ สารพิษและสารเคมี สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงที่อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำ จะส่งผลให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ติดต่อง่ายและแพร่กระจายรวดเร็ว เช่น ในน้ำดื่ม น้ำแข็ง เชื้อไวรัสก่อโรคที่พบบ่อย คือ ไวรัสโรต้า และไวรัสโนโร ซึ่งมักก่อโรคในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เยื่อบุลำไส้บางลง ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารลดลง ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจะมีอาการรุนแรง เช่น ริมฝีปากแห้ง ปัสสาวะลดลง ตาโหล เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าว เป็นสัญญาณอันตรายในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคอุจจาระร่วงนั้น เป็นการรักษาตามอาการ โดยการป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียออกจากร่างกาย รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในการเลือกรับประทานอาหารและปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดี โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างมื้อต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และภายหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ดื่มน้ำ น้ำแข็ง ที่สะอาดได้มาตรฐาน หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
******************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 15 มกราคม 2564