ภูมิภาค
สนธยา พาไปขอโชคลาภ “เซียนแปะ โรงสี” เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปทุมธานี
วันเสาร์ ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 17.26 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
อยู่ในช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน วันนี้( 15 ต.ค.65) สนธยา จะพาไปที่ศาลเจ้าเซียนแปะ โรงสี ตั้งอยู่พื้นที่วัดมะขาม ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดอำนาจเจริญ ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย ท้องฟ้ามืดครึ้ม เพราะเป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว โดยมี ประชาชน ผู้มีใจศรัทธา เคารพ นับถือ เดินทางเข้ามา กราบไหว้ อธิษฐาน ขอพร จาก เซียนแปะ โรงสี อย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด
สำหรับ ประวัติ ความเป็นมาของ เชียนแปะ โรงสี เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี ผู้ดูแลศาลเจ้า เล่าว่า เชียนแปะ เดิมชื่อ นาย กิมเคย แซ่โง้ว เกิดที่ประเทศจีน ประมาณปี พ.ศ.2441 ปลายรัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ 10 ปี ได้เดินทางมาพร้อมกับพี่ชายจากบ้านเกิด หมู่บ้านเฮียลี่ หรือ โจ่ยเกาเฮีย ต.โจ่ยเกา อ.เท่งไฮ้ ประเทศจีน มายังประเทศไทย และเมื่อเติบโตพอจะประกอบอาชีพได้ ก็รับจ้างทั่วไป โดยทำงานอยู่ที่โรงสีบางโพธิ์ใต้ ปัจจุบันเป็นตำบลบางเดื่อ จ.ปทุมธานี ด้วยความขยันขันแข็ง ทำให้สามารถเก็บออมเงินได้ จึงผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายส่งข้าว ไปตามโรงสีต่างๆ รวมถึงได้รับความไว้วางใจ ร่วมหุ้นเป็นหุ้นส่วนกับโรงสีบางโพธิ์ใต้ เมื่ออากงอายุได้ 22 ปี เหล่าอากงเหม่งจก และเหล่าม่ากุหลาบ เจ้าของโรงสีอีกแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเป็น ต.บ้านฉาง จ.ปทุมธานี) ได้เล็งเห็นถึงความวิริยะ อุตสาหะ ขยันขันแข็ง ของอากง จึงได้ทาบทามให้แต่งงานกับบุตรสาว คือ อาม่านวลศรี เอี่ยมเซ่ง และได้มีบุตรธิดารวมกัน 10 คน
หลังจากสร้างครอบครัว ได้มีการแยกหุ้น โรงสีบางโพธิ์ใต้ อากงได้เงินส่วนแบ่งมา 100,000 บาท จึงนำเงินมาซื้อเครื่องจักร ได้มาสร้างโรงสีของตนเอง ที่ปากคลองเชียงราก ในนาม โรงสีไฟทองศิริ ตั้งอยู่ที่วัดบางกะดี ตรงข้าม วัดศาลเจ้า ต่อมา อากงโอนสัญชาติเป็นสัญชาติไทย เปลี่ยนชื่อว่า นายนที ทองศิริ เมื่อวันเวลาผ่านไปกิจการโรงสี ดำเนินไปด้วยดี ทวีความมั่นคง ทำให้ชื่อเสียงของอากงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แต่คนทั่วไปยังคงเรียกว่า “เถ้าแก่กิมเคย” หรือ “ แปะกิมเคย”
ด้วยความที่อากง เป็นคนชอบช่วยเหลือผู้คน ประกอบกับ มีศาลเจ้าไม้เล็กๆ แห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านระแวกนั้น เรียก ศาลเจ้าพ่อปู่ ถ้าเป็นชาวจีนจะเรียก ปึงเถ่ากงม่า เป็นศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน เมื่อว่างจากกิจการงาน อากง ชอบที่จะมาบูรณะศาลเจ้าเป็นประจำ ถึงแม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการคมนาคมสมัยนั้น ส่วนใหญ่การเดินทางจะเป็นทางน้ำ แต่ก็ไม่หยุดหย่อน ประกอบกับ อากงชอบท้าทาย ชี้แนะให้ทุกคนประกอบแต่ความดี แม้กระทั่งพายเรือไปช่วยเหลือผู้คนตามสถานที่ต่างๆ อากงจึงเป็นที่รักและศรัทธาของคนทั่วไป ส่งผลให้ผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันร่วมกัน บูรณะศาลเจ้า จากเดิมเป็นศาลเจ้าไม้เล็กๆ ให้เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ได้สำเร็จ
จากนั้น อากง ได้กำหนดงานประจำปี เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ถึง วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 รวม 4 วัน 4 คืน ชาวจีนเรียกช่วงนี้ว่า “ เจียงง่วย ซิวโหงว ถึง เจียงง่วย ซิวโป๊ย “ ถือเป็นประเพณีตลอดมา ทั้งนี้ บางปี ระหว่างการจัดงานประจำปี มีเมฆฝนมืดครึ้ม คาดว่า จะมีพายุใหญ่ ท่านจะจุดธูปปัดเป่าลมฝนไป ทำให้ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีวี่แววพายุเลย ชาวบ้านได้พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว รู้สึกศรัทธา และได้ขยายวงกว้าง หมู่พ่อค้าทุกวงการ ส่งผลให้ท่านมีลูกศิษย์ที่นับถือ เพิ่มมากขึ้น และขนานนามท่านว่า “ หวยลั้งเซียน “ หรือ “ เซียนแปะโรงสี “ ต่อมา การคมนาคม สะดวกสบายมากขึ้น ผู้ที่ศรัทธาท่าน เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อให้ชี้แนะเกี่ยวกับ ฮวงจุ้ย บ้าน บริษัท ห้างร้าน และดูแลที่ตั้ง ฮวยจุ้ย ของบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศ ท่านพร้อมช่วยเหลือ ชี้แนะให้คำแนะนำอย่างเต็มใจ โดยไม่เหน็ดเหนื่อยและไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ รวมถึง ได้เขียนผ้ายันต์ขึ้น ด้วยพู่กัน หมึกจีน เป็นภาษาจีน 4 คำ คือ “ เทียน กัว สื่อ ฮก “ มีความหมายว่า “ฟ้าประทานพร” แจกจ่ายให้คนที่นับถือศรัทธาท่าน เพื่อปรับฮวงจุ้ยเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี ซึ่งโดยมากผู้ที่ศรัทธาท่าน จะเตรียมหมากพลูไว้ให้ท่านด้วย แม้ว่า อากง จะเป็นคนจีนดั้งเดิม แต่ท่านชอบเคี้ยวหมากพลูเหมือนคนไทยสมัยนั้นด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่ท่านเคยให้ความช่วยเหลือ และ ช่วยชี้แนะไปนั้น มักประสบผลสำเร็จ ในกิจการงานที่ทำ การค้าเจริญ รุ่งเรือง จึงบอกเล่าปากต่อปาก จนเป็นที่รู้จักในวงการค้าและมีผู้เคารพศรัทธามากขึ้น จึงเรียกท่านว่า “อาแปะ” หรือ “ เซียนแปะ “ จวบจนทุกวันนี้
วันเวลาเปลี่ยนไป อากงอายุมากขึ้น ร่างกาย ผายผอม หลังโค้งงอ แต่ท่านยังช่วยเหลือชี้แนะผู้คนเสมอต้นเสมอปลาย กระทั่งเวลา 05.30 น. ของวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2527 ท่านได้จากไปอย่างสงบ อายุได้ 86 ปี หลังเสร็จจากงานศพของท่านแล้ว บรรดาศิษย์และครอบครัว ได้สร้างอาคารอเนกประสงค์ เป็นอนุสรณ์ และระลึกถึงคุณงามความดี ของท่าน ที่บริเวณพื้นที่ วัดมะขาม ชื่อว่า “ศาลานที ทองศิริ” พร้อมตั้งรูปปั้นจำลอง ขนาด เท่าตัวจริงไว้ เพื่อเป็นที่สักการะ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ของบรรดาศิษย์และคนทั่วไป
เมื่อถึงวันจัดงานประจำปี ของศาลเจ้า นับจากวันที่ 5 ของวันตรุษจีนในแต่ละปี จะมีศิษยานุศิษย์และผู้มีความศรัทธา เดินทางเข้ามานมัสการ ร่วมงานประจำปี จำนวนมาก พร้อมรับผ้ายันต์ ฟ้าประทานพร ที่อากงเคยเชียนไว้ เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นสิริมงคล เจริญรุ่งเรือง และค้าขายร่ำรวยอีกด้วย…
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่