ภูมิภาค
“สนธยา” พากราบขอพรพระมงคลมิ่งเมือง แบบวิถีชีวิตใหม่ที่ จ.อำนาจเจริญ
วันอาทิตย์ ที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 12.59 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
จังหวัดอำนาจเจริญ ถือว่า โชคดี เพราะพบผู้ป่วยโควิด 19 ไม่มาก โดยเฉพาะวันนี้ (2 พ.ค.64) ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม และที่สำคัญ รักษาหาย 15 ราย กำลังรักษา 21 ราย ยอดสะสม 36 รายและไม่พบผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เดินทางออกจากบ้าน จะต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อย่างเช่น พุทธอุทยาน ประดิษฐาน องค์พระมงคลมิ่งเมือง ตั้งอยู่ ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ยังคงเปิดให้พุทธศาสนิกชนและประชาชน ได้เข้าไปกราบนมัสการขอพร พระมงคลมิ่งเมือง ได้เหมือนเดิม และก่อนเข้าไป จะต้องผ่าน จุดคัดกรองอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกัน โควิด 19
สำหรับ พระมงคลมิ่งเมือง หรือ พระใหญ่ ประดิษฐาน อยู่ภายในพุทธอุทยาน ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ บนเขาดานพระบาท บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ท่ามกลางป่าไม้นานาพันธุ์ขึ้นเขียวชอุ่มปกคลุมไปทั่วบริเวณ ทำให้ร่มรื่น เงียบสงบยิ่งนัก แถมมีลงพัดเย็นสบายตลอดเวลา จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชาวอำนาจเจริญ และยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง
พระมงคลมิ่งเมือง หรือ พระใหญ่ มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลด้านศิลปะอินเดียเหนือแคว้นปาละ ซึ่งได้แผ่อิทธิพลมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 -16 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ส่วนสูงวัดจากพื้นดินระดับต่ำสุดถึงยอดเปลว 20 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยตลอด ผิวนอกฉาบปูนด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2508 ซึ่ง พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนทั้งชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพและกราบไหว้บูชาตลอดเวลา
สำหรับด้านหลังองค์พระมงคลมิ่งเมือง เป็นที่ประดิษฐาน พระละฮาย 2 องค์ สลักด้วยหินทรายสีแดง ยังสลักไม่เสร็จ พุทธลักษณะตรงกับสมัยทราวดีรุ่นหลังพุทธศตวรรษที่ 10 – 12 ซึ่งขุดได้จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดกหรืออ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เพื่อใช้ในการเกษตรและผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงชาวเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามพุทธอุทยาน
นอกจากนี้ด้านหลังองค์พระละฮาย ซึ่งพื้นที่มีลักษณะเป็นเขาดานหินธรรมชาติ สูงจากระดับพื้นดินเป็นดอนๆและเป็นที่ตั้งพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญ คือ ยังมีรอยพระพุทธบาทจารึก และห่างไปก็จะเป็นป่ารกชัดมีถ้ำหลายถ้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ท่ามกลางแมกไม้ป่ารกชัด สลับเสียงนกกาจั๊กจั่นขับร้องขับกล่อมเป็นเสียงเพลง ลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา จะเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญแบบไม้ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ค่อนข้างเก่า เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ญาติโยม ถวายภัตตาหาร แด่ พระครูสารธรรมคุณาพร หรือ พระอาจารย์คำ จันทสาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นี่ สังกัดธรรมยุติ สายพระอาจารย์มั่น ภูริตโต และพระอาจารย์ฟั่น อาจารโร ซึ่งนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชน ที่มานมัสการ องค์พระมงคลมิ่งเมือง ก่อนกลับก็จะแวะฟังธรรมเทศนา จากพระอาจารย์คำ จันทสาโร เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิต ให้เจริญรุ่งเรือง และ ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ที่สำคัญ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) ชาวอำนาจเจริญทุกภาคส่วนร่วมกัน จัดงานประเพณี นมัสการ พระมงคลมิ่งเมือง เป็นประจำทุกปี และถือว่าเป็นงานใหญ่ ที่ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ ภาคภูมิใจและจัดงานมาช้านาน.
สนธยา ทิพย์อุตร/รายงาน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่