วันอาทิตย์ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564, 13.29 น.
วันที่ 12 ก.ย. 64 สนธยาจะพาไปวัดขนาดเล็ก ในพื้นที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เพื่อไปฟังธรรมเทศนา กับ เจ้าอาวาสวัดสร้างถ่อใน ต.สร้างถ่อน้อย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ปลอดภัยจากโควิด – 19 อีกด้วย
สำหรับวัดสร้างถ่อใน มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ 2 รูป บนเนื้อที่ 7 ไร่ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิสงฆ์ แม้ว่าจะ เป็นวัดขนาดเล็ก ทว่าทุกวัน จะพบเห็นพุทธศาสนิกชน ญาติโยม ใส่หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า เดินทางเข้าไปทำบุญ ทำทาน สร้างกุศล ทุกคน และทำกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา จะมีพุทธศาสนิกชน ญาติโยม มากเป็นพิเศษ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด – 19 อย่างเคร่งครัด
พระณัฐพงษ์ โชติโก อายุ 48 ปี เจ้าอาวาสวัดสร้างถ่อใน ต.สร้างถ่อน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ญาติโยม ผู้เฒ่า ผู้แก่ ในหมู่บ้านสร้างถ่อใน เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน เมื่อครั้งหลวงปู่แหวน สุจินโน บวชเป็นสามเณร เคยเดินทางมาพร้อมเพื่อนสามเณรด้วยกัน จำพรรษาที่วัดสร้างถ่อใน เพื่อศึกษาวิชาความรู้ในหลักธรรมเพิ่มเติม ระหว่างจำพรรษา นางนาถ เป็นโยมอุปถาก สามเณรทั้ง 2 รูป จนออกพรรษา
ต่อมาสามเณร(หลวงปู่แหวน) 2 รูป จะเดินทางต่อไปยังภาคเหนือ ก่อนไปไม่ได้เอา ใบลาน กระโถน และภาชนะใส่หมากเคี้ยว ไปด้วย นางนาถ จึงเก็บไว้ และมอบให้กับทางวัดสร้างถ่อใน ซึ่งใบลาน บทสวดมนต์ของหลวงปู่แหวน ก็เป็นไว้ที่ตู้พระไตรปิฎก บนศาลาการเปรียญวัด และกระโถนก็เก็บไว้ที่วัด ส่วนภาชนะใส่คำหมาก ไม่ทราบว่า อยู่ที่ไหน ซึ่งสามเณรทั้ง 2 รูป เดินทางไปเรื่อยๆจนถึง จ.เชียงใหม่ ต่อมา อายุครบ 20 ปี ก็บวชเป็นพระทั้ง 2 รูป จำวัดอยู่ที่ดอยแม่ปั๋ง ไม่นาน พระสงฆ์เพื่อนหลวงปู่แหวน ขอลาสิกขา สึกจากพระเป็นฆราวาส และแต่งงานมีครอบครัวไป ส่วน หลวงปู่แหวน ก็อยู่จำวัดดอยแม่ปั๋ง จนมรณภาพ จึงเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่แหวน สุจินโน เมื่อครั้งเป็นสามเณร เคยเดินทางมาจำพรรษาที่วัดสร้างถ่อในแห่งนี้มาก่อน
พระณัฐพงษ์ โชติโก เจ้าอาวาสวัดสร้างถ่อใน กล่าวว่า วัดสร้างถ่อใน มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอายุกว่า 100 ปี อยู่ 2 องค์ นามว่า พระอู่ทองและพระอู่ไท ว่ากันว่า ชาวเมืองสุโขทัย ซึ่งมีภรรยา เป็นคนบ้านสร้างถ่อใน ได้อันเชิญพระทั้ง 2 องค์ มาประดิษฐานที่นี่ ซึ่งก่อนนั้น คนเฒ่าคนแก่ฝันว่า พระพุทธรูป 2 องค์ ต้องอยู่คนละที่ ซึ่งพระอู่ไท ขออยู่บนศาลาการเปรียญวัด ส่วนพระอู่ทอง จะอยู่ข้างล่าง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีโฮมอัดหนังสือเก่าแก่ ตั้งอยู่ใกล้ๆด้วย ทั้งนี้ พระอู่ทอง – พระอู่ไท ซึ่งเป็นพระคู่แฝด ประชาชนนับถือมาก หากอธิษฐาน ขออะไร จะได้ดั่งใจประสงค์ทุกประการ
ที่ผ่านมา มีพุทธศาสนิกชน ญาติโยม เข้ามากราบขอพรจากพระทั้ง 2 องค์ เป็นประจำ ก่อนกลับ ก็จะแวะรดน้ำมนต์ ฟังธรรมเทศนา เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ให้ดำเนินชีวิตประจำวัน ประสบความสำเร็จ อย่างมั่นคง ยั่งยืน
พระณัฐพงษ์ โชติโก เจ้าอาวาสวัดสร้างถ่อใน เทศนา เรื่อง เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ว่า ในสมัยพุทธกาล ยังมีเศรษฐีสองสามีภรรยาครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชายคนหนึ่ง เมื่อโตเป็นหนุ่มพร้อมจะมีครอบครัว เพื่อสืบสกุล เพื่อรักษาทรัพย์สมบัติ บิดาจึงได้หาหญิงสาวมาแต่งงานให้เป็นภรรยา ทั้งสามีภรรยาได้อยู่กินกันหลายปี ไม่มีบุตรสืบสกุลเลย จึงทำให้ครอบครัวเศรษฐีมีปัญหาร้อนใจ วันหนึ่ง จึงได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งหมดได้ตกลงให้บุตรชายมีภรรยาน้อยได้ จึงได้หาหญิงสาวมาเป็นภรรยาคนที่สอง
ส่วนภรรยาคนแรกก็บอกภรยาคนที่สองว่า ถ้าเธอตั้งท้องได้เมื่อใดก็ขอให้บอก จะได้ช่วยหาอาหารเสริมมาบำรุงครรภ์ให้ ภรรยาคนที่สองถือใจซื่อ พออยู่กินกันมาได้ 5 – 6 เดือน เธอก็ตั้งท้อง และได้บอกเรื่องนี้กับภรรยาคนที่หนึ่ง ภรรยาคนที่หนึ่งอิจฉา เพราะกลัวว่า ลูกภรรยาคนที่สองได้สืบมรดาต่อไป จึงได้เอายาใส่ในอาหารเพื่อให้เด็กแท้งออกมา ไม่นานเด็กแท้งออกมาจากครรภ์มารดา ต่อมาตั้งครรภ์คนที่สองอีก เหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนเดิม คือถูกวางยาแท้งออกมาอีก เมื่อเธอตั้งครรภ์คนที่สาม ครั้งนี้เธอปิดปากเงียบ โดยไม่บอกภรรยาคนที่หนึ่ง ต่อมา ท้องโตขึ้น ภรรยาคนที่หนึ่งเมื่อเห็นท้องโตขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดอุบายที่จะกำจัดทั้งแม่และลูกในท้อง จึงวางแผนใส่ยาพิษที่แรงมากลงไปในอาหาร ในที่สุดทั้งมารดาและลูกถูกยาพิษตาย ก่อนตายได้กล่าวอาฆาตว่า “ ขอให้เกิดเป็นสัตว์ร้าย กินแม่และลูกแกทุกชาติไป”
ภรรยาน้อยเมื่อตายเกิดเป็นแมว ภรรยาใหญ่เกิดเป็นแม่ไก่ เมื่อออกไข่มาครั้งใด แมวลักไข่กินทุกครั้ง นานเข้าตะครุบกินแม่ไก่ด้วย เมื่อทั้งสองตาย แมวเกิดเป็นกวาง((ภรรยาน้อย) ไก่เกิดเป็นเสือ(ภรรยาใหญ่) พอกวางออกลูกน้อยมา เสือตะครุบกินเป็นอาหาร นานเข้ากินแม่ ทั้งเสือและกวางตาย เสือเกิดเป็นกุลธิดาเศรษฐี ที่นามากมาย ส่วนกวางเกิดเป็นนางยักษิณี เมื่อนางกุลธิดาคลอดลูกออกมา ขณะอุ้มไปที่นา นางยักษิณีแปลงร่างเป็นมนุษย์ ขออุ้มลูกของนาง นางกุลธิดาตายใจปล่อยให้อุ้ม จากนั้นนางยักษิณีกัดกินเด็กเป็นอาหาร ต่อมา คลอดลูกคนที่สองก็เกิดเหตุการณ์เหมือนเดิม ลูกคนที่สองถูกนางยักษิณีกัดกินอีก ต่อมา เมื่อนางกุลธิดาท้องแก่ สามีพาไปคลอดที่บ้านแม่ของนาง พอแข็งแรงกลับมาอยู่บ้านย่า ขณะสามีไปอาบน้ำ นางกุลธิดากำลังให้นมลูก ระหว่างนั้น นางยักษิณีถูกเวรมาตักน้ำให้ท้าวเวสสุวรรณ จึงพบนางกุลธิดาให้ลูกกินนมอยู่ ก็เลยทิ้งถังน้ำ วิ่งไล่นางกุลธิดา เธอจึงอุ้มลูกน้อยวิ่งเข้าไปในวัดเชตวันมหาวิหารอย่างไม่คิดชีวิต เข้าไปจนถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกราบลงใกล้กับพระบาท พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทราบด้วยญาณ จึงมอบให้ พระอานนท์นำนางยักษิณี ที่ติดอยู่ประตูหน้าวัด และพาเข้าไปในวัด นางยักษ์นั่งอยู่ข้างนางกุลธิดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่า “อะโกธะทิมัง อะวะธิมัง อะธินิมัง อะหาสิเม เยจะตัง อุปะมัย หันติ เวระรัง เตสัง นะสัมมะติ “ ผู้ใดผูกโกรธไว้ว่า ผู้นั้นด่าเรา ผู้นั้นเฆี่ยนเรา ผู้นั้นชนะเรา ผู้นั้นลักทรัพย์ของเราไป มีการผูกเวรอยู่ย่อมไม่ระงับ เธอทั้งสองได้ผูกเวรกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ถ้าเธอทั้งสองไม่พบเราตถาคต เวรย่อมไม่ระงับอยู่สิ้นกาลนาน บัดนี้ เธอทั้งสองมาถึงเราตถาคต ขอพวกเธอทั้งสองจงระงับเวรเสีย
จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้นางยักษิณีสมาทานศีลห้า แล้วให้นางกุลธิดาเอาเด็กให้นางยักษิณีอุ้ม เธอไม่สามารถกินเด็กต่อไปได้ เพราะศีลห้าควบคุมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความเมตตา พระตถาคตได้ให้เธอทั้งสองไปประกอบสัมมาอาชีพตามเดิม
นางกุลธิดาสงสารนางยักษิณี จึงขอรับเธอไปเลี้ยงที่บ้าน แม้จะหาที่อยู่ให้หลายแห่งเธอไม่อยู่ กลับไปอยู่ที่เถียงปลายนา และตั้งใจรักษาศีลห้า คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่พูดเท็จ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ดื่มสุราและไม่ทำผิดในกาม และนางยักษิณีหยั่งรู้ดินฟ้าได้ด้วย ถ้าปีไหนฝนจะมาก จะน้อย จะบอกให้นางกุลธิดาได้รู้ เพื่อจะได้ทำนาได้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านแถบนั้นจึงได้มาขอความเมตตาจากนางยักษิณีให้ทำนายฟ้าฝนให้จนทำนาได้ผลอุดมสมบูรณ์ทั่วกัน ชาวบ้านได้นำข้าวปลาอาหารมาตอบแทนบุญคุณนางยักษิณี ซึ่งเธอได้นำข้าวและอาหารไปทำบุญถวายพระสงฆ์ทุกวัน จนถึง 7 ปี เป็นข้าวสลากภัต (ชาวอีสานเรียกว่า ข้าวสาก จะมีการทำบุญข้าวสากในระหว่างเดือน 6 เดือน 7) เมื่อนางยักษิณีตายจากโลกนี้ ได้จุติเป็นนางเทพธิดาอยู่ชั้นนดาวดึงส์ ด้วยอานิสงส์ผลบุญนั่นเอง…
สนธยา ทิพย์อุตร/รายงาน