วันอาทิตย์ ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564, 12.07 น.
สถานการณ์ โควิด 19 จังหวัดอำนาจเจริญ ข้อมูล ณ.วันที่ 31 ม.ค. 64 เวลา 08.00 น. ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 0 ราย ผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่ 2 ราย สะสม 4 ราย หายป่วย 4 ราย เสียชีวิต 0 ราย ผู้ที่เข้าเกณฑ์สงสัย(PUI) รายใหม่ 0 ราย สะสม 202 ราย ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม รายใหม่ 37 ราย สะสม 12,876 ราย ทั้งนี้ จังหวัดอำนาจเจริญ ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ติดต่อกัน 30 วันแล้ว
ถึงแม้จังหวัดอำนาจเจริญ จะไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 มาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว ก็ตาม การปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด จึงต้องทำตามต่อไป
สนธยา พาไปกราบ พระประทานฝน พุทธรูปเก่าแก่ สมัยทราวดี วันนี้( 31 ม.ค. 64) จึงต้องเป็นไปแบบชีวิตวิถีใหม่ (NEW NORMAL) เช่น สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างกัน 1 เมตร พกแจลแอลกอฮอล์ ล้างมือบ่อยครั้ง ฯลฯ เพื่อป้องกัน โควิด 19 นั่นเอง
สำหรับ พระพุทธรูปแก่แก่ ประดิษฐานอยู่บริเวณ แหล่งโบราณสถานเสมาพันปี ที่ ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ นับว่า เป็นสิ่งยืนยันว่า พุทธศาสนา ในอดีตเคยรุ่งเรืองอย่างไรและเป็นสิ่งล้ำค่าที่บรรพบุรุษในอดีตทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแนวทางศึกษา ด้วยความภาคภูมิใจ
อำเภอลืออำนาจ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอำนาจเจริญด้านทิศใต้ไปตามถนนชยางกูร สายหลัก (อำนาจเจริญ- อุบลราชธานี) ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงแยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรอง ลืออำนาจ-พนา เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงตำบลเปือย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง เสมาพันปี ทางเข้าก็จะมีป้ายบอก ซึ่งการเดินทางสะดวกมาก เพราะถนนเข้าไปแบบคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี
สำหรับแหล่งโบราณสถานเสมาพันปี สมัยก่อนบริเวณนี้ เป็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะหากใครเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ก็จะมีอันเป็นไปและเสียชีวิตทุกราย คนในพื้นที่จะเกรงกลัวกันมาก เมื่อถึงฤดูทำนาก็จะเข้าไปกราบไหว้บนบานต้นไม้ใหญ่ที่อยู่กลางป่า ขอให้ฝนตกดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ และในป่าก็จะมีเต่าใหญ่ เรียกว่า “เต่าเพ็ก” อาศัยอยู่กว่า 100 ตัว แต่ปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่แล้ว ซึ่งเต่าพวกนี้ พอตกเย็นก็จะเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะให้ข้าวและกล้วยเป็นอาหารและไม่มีใครกล้าทำร้าย เพราะเชื่อว่าเป็นเต่าปู่ตาเลี้ยงไว้ ใครขโมยไปก็จะเอามาคืนภายใน 7 วัน โจรผู้ร้ายไม่มี ชาวบ้านอยู่กันสงบสุขดีมาก
ชาวตำบลเปือย รักสงบ ชอบเข้าวัดฟังธรรม กลายเป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ทางอำเภอให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบและได้รับคำชมเชยมาตลอด และนับว่าเป็นตำบลเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเสมาพันปีที่อยู่ในหมู่บ้านจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ เสมาพันปีที่หมู่บ้านมีด้วยกัน 4 แห่ง โดยอยู่ในดอนปู่ตา บนเนื้อที่ 200 ไรทั้งหมด แต่ปัจจุบันถูกชาวบ้านบางคนเข้าไปบุกรุกจนเหลือเนื้อที่เพียง 50 ไร่
โดยแหล่งที่ 1. เป็นกลุ่มเสมาในเขตวัดโพธิ์ เป็นเสมาแบบศิลา จำนวน 50 ใบ และเนินศาลาสถานที่ กลุ่มเสมาทรายปักอยู่ ชาวบ้าน เรียกว่า “ลานเสมา” แต่ละใบ มีการสลักเป็นรูปหม้อน้ำและคล้ายคลึงกันลวดลายเสากลม ที่ประดับกรอบประตูสมัยก่อนเมืองพระนคร ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 หรือ 1,400 ปีมาแล้ว สมัยทวาราวดี ศิลปะขอมแบบไพรกเมง พบเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2532
แหล่งที่ 2. เป็นกลุ่มเสมาวัดบ้านไร่ นับว่าเป็นกลุ่มเสมาที่มีความหนาแน่นมากที่สุด มีจำนวนถึง 74 ใบ เป็นกลุ่มเสมาที่ทำด้วยศิลาแลง ไม่มีการสลักลวดลายและมีการสลักฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มีสันนูนคล้ายยอดสถูปอยู่ตรงกลาง
แหล่งที่ 3. เป็นกลุ่มเสมาหลังโรงเรียนเปือย –หัวดง เป็นเสมาที่ทำด้วยหินทราย ลักษณะใบเสมาเรียบ ไม่มีลวดลาย แต่ตรงกลางเป็นที่เรียวไปถึงยอด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
แหล่งที่ 4. เป็นกลุ่มเสมาดอนปู่ตา มีอยู่ 50 ใบ มีลักษณะเป็นศิลาทราย แต่ละใบจะมีการแกะสลักเป็นรูปนกแก้ว จึงเรียกว่า “ลานนกแก้ว”
สำหรับ พุทธรูปแบบปางสมาธิเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี สมัยทราวดี ประดิษฐานอยู่ภายในเพิงถาวร สมัยก่อนหากปีไหนฝนแล้ง ชาวบ้านจะมาทำพิธีขอฝนจากท่าน กระทั่งทุกวันนี้ ยังมีการทำพิธีขอฝนจากท่านช่วงฤดูทำนาปลูกข้าวเป็นประจำทุกปี จึงถูกเรียกว่า พระประทานฝน บางคนมาขอให้ช่วยในด้านต่างๆ และสมหวังทุกคน .