รมว.พาณิชย์ คิกออฟ ธ.ก.ส.โอนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ล็อตแรกวันนี้ 21 จังหวัด หวังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
วันที่ 28 พ.ย. ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Kick Off มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567
ภูมิธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 มีเป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะมีการจ่ายเป็น 5 งวด (28 พ.ย. – 2 ธ.ค.66) เริ่มจ่ายวันที่28 พ.ย.66 เป็นวันแรกครอบคลุม 21 จังหวัด จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2566 จึงจะครบทั้ง 77 จังหวัด กรอบวงเงินรวมกว่า 54,336 ล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
“รัฐบาลตั้งใจที่จะลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ท่าน ความร่วมมือครั้งนี้ สำเร็จได้เพราะพี่น้องเกษตรกรและตัวแทนชาวนาช่วยกัน วันนี้เป็นวันแรกที่โอนเงินได้และเมื่อครบ 5 วันก็ครบทั้งประเทศ ปีต่อไปให้มาลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต อนาคตเราจะใช้เทคโนโลยีมาเสริมให้ผลผลิตสูงขึ้น จะได้เอาเงินก้อนนี้มาแก้ไขปัญหาต่างๆได้มากขึ้นให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่านี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ได้ความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ ขอให้เกษตรกรทุกคนมีกำลังใจ”นายภูมิธรรมกล่าว
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลที่ให้เงินไร่ละ 1,000 แก่เกษตรกร ขอบคุณท่านรองนายกฯ และทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ชาวนาทุกคนฝากขอบคุณท่าน ราคาข้าว 1-2 วันนี้ ขึ้นมาเป็นตันละ 13,000 บาท เป็นโอกาสดีของชาวนา เป็นระยะเวลา 17 ปี เพิ่งจะมีรัฐบาลชุดนี้ที่ราคาขึ้นมาสูง ข้าวขาวตันละ 10,000 กว่าบาท ข้าวเหนียว ตันละ 10,000 กว่าบาท ข้าวหอมมะลิ ตันละ 10,000 กว่าบาท ทำให้ชาวนาพออยู่ได้
สำหรับ ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จะมีการเสนอโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 โดยจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในอัตรา 4% ใช้งบประมาณ 780 ล้านบาท จากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในโอกาสแรกก่อน
และสำหรับการจ่ายเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 แบ่งเป็น 5 งวด ประกอบด้วย
งวดที่ 1 จ่ายวันที่ 28 พ.ย.66 จำนวน 21 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู เลย นครสวรรค์พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ตาก เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ เชียงใหม่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลพบุรีและกรุงเทพฯ
งวดที่ 2 จ่ายวันที่ 29 พ.ย.66 จำนวน 8 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย มุกดาหารและบึงกาฬ
งวดที่ 3 จ่ายวันที่ 30 พ.ย.66 จำนวน 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิและยโสธร
งวดที่ 4 จ่ายวันที่ 1 ธ.ค.66 จำนวน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ขอนแก่นและกาฬสินธุ์
และงวดที่ 5 จ่ายวันที่ 2 ธ.ค.66 จำนวน 38 จังหวัด คือ อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี สระบุรี อ่างทอง นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ ระนองและพังงา
ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family อีกด้วย