วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า “บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า” ต้องเสียสละเพื่อประชาชนและประเทศชาติเพียงใดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์จาก 3 คณะแพทย์และส่วนงานที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยมหิดลบรรลุภารกิจดังกล่าว
“มหาวิทยาลัยด่านหน้า” ในชุมชนก็มีภารกิจสำคัญเพื่อประชาชนและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จากตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวงอว.) ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาในฐานะ “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้ากระทรวงอว.” ของจังหวัดอำนาจเจริญ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญมหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทในการบริการวิชาการดูแลประชากรในจังหวัดอำนาจเจริญถึงร้อยละ 90 ของจำนวนตำบลทั้งหมดในจังหวัดอำนาจเจริญ ให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19
โดยในปี 2565 ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดูแลตำบลในจังหวัด 43 ตำบลจาก 56 ตำบล ตั้งเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นถิ่นให้ได้อย่างน้อย 2 ชิ้นต่อตำบลรวม ให้ได้ 86 ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ภายใน 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2565)
เมื่อเร็วๆ นี้ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณภาพ ซึ่งให้การส่งเสริมโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน U2T for BCG Hackathon 2022 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จากการเพิ่มมูลค่า “ต้นกก” ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรณไม้มงคลของชาวอีสาน ให้ “ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก” ของตำบลปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถต่อยอดพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ด้วยรูปลักษณ์และการใช้งานที่หลากหลาย
ซึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชน นอกจากการทำให้ดูน่าดึงดูดใจ ยังสำคัญที่คุณภาพ ถือเป็นภารกิจสำคัญของ”มหาวิทยาลัยด่านหน้า” ที่จะต้องใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วยจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก นอกจากดูดีน่าใช้ ยังมีคุณภาพที่แตกต่าง จากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ปลอดเชื้อราซึ่งคงทนมากขึ้น
นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพรรณไม้มงคลของชาวอีสานแล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มองไปถึงการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคึมใหญ่และเครือข่ายอำเภอเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ จาก “รังไหม” ซึ่งถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ
โดยจะขยายประโยชน์การใช้สอยสู่ “สารสกัดโปรตีนจากรังไหม” จากการนำมาวิเคราะห์ถึงคุณค่าของโปรตีน และแนวทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นอีกสิ่งที่ดีที่สุด ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้ประชาชนและประเทศชาติ
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอีกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีที่ตั้งในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ที่เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวงอว. อย่างเข้มแข็งถึง 2 ปีซ้อน
นอกการจากเป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาวะ จากการจัดการเรียนการสอนด้านสาธารณสุขศาสตร์แล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีความโดดเด่นในวิชาการด้านเกษตรศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ตามนโยบายSDGs เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวงอว. ที่ทางวิทยาเขตนครสวรรค์ ร่วมดำเนินการว่า ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณภาพขึ้นมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นที่ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากฝรั่งตามที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญของตำบลฯ
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ส่งนักวิชาการเกษตรและทีมลงพื้นที่ชุมชนตำบลเก้าเลี้ยวอำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้ชาวชุมชนฯ ได้มีผลิตภัณฑ์จากชุมชน “ปุ๋ยน้ำฝรั่ง” จากการหมักฝรั่งเหลือทิ้งด้วยหลักวิชาการ แล้วนำกลับไปใช้บำรุงต้นฝรั่งให้ออกดอกออกผลงดงาม ได้เพิ่มทั้งปริมาณและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ให้ชาวสวนฝรั่งตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ยิ้มได้กันถ้วนหน้า
หรือจะเป็นที่ตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ชาวตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีผลิตภัณฑ์จากชุมชน “น้ำผึ้งสมุนไพร” ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ท้องถิ่น
โดยเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน “น้ำผึ้งสมุนไพร” ที่ปลอดสารพิษ จากการเลี้ยงผึ้งในสภาวะแวดล้อมที่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี และเสริมคุณค่าด้วยการนำมาดองกับพืชสมุนไพรหลากประโยชน์ อาทิ พืชสมุนไพร “ม้าฮ่อ” ที่มีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ และ พืชสมุนไพร “รากสามสิบ” ที่มีสรรพคุณเป็น “ยาสตรี” ที่ช่วยบำรุงเลือด และผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง เป็นต้น
แม้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวงอว. จะมีกำหนดระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงไม่หยุดยั้งที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่อง และเต็มศักยภาพ ด้วยกำลังใจและแรงศรัทธาจากพี่น้องชาวไทย เชื่อว่าจะสามารถร่วมฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ และบรรลุนโยบาย BCG สู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th