วันนี้ (30 ก.ค.64) พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบหมายให้ กอนช. ติดตามอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ในช่วงวันที่ 20 – 27 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าพายุดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าจริงในทุกภาคของประเทศ จำนวน 2,032.05 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 197.58 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเติมน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณที่มีน้ำไหลเข้ามากที่สุดถึง 894.74 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเมื่อต้นฤดูซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 3,733.67 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (27 ก.ค. 64) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 4,427.83 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49.98 ของความจุทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 694.16ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ปัจจุบันระดับน้ำกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว
ส่วนอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อยอื่น ๆ ที่มีน้ำไหลเข้าจำนวนมาก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำไหลเข้า 325.58 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้า 153.54 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้า 129.01 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ได้ดำเนินการเร่งเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งถัดไป
แม้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำจากอิทธิพลของพายุเจิมปากาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย แต่ก็ยังมีพื้นที่โดยเฉพาะลำน้ำสายหลักที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กอนช.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำทุกแห่งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง
จากการประเมินสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง พบว่า ระดับน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ได้แก่ 1. จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.50 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.55 เมตร 2.จังหวัดเลย ระดับน้ำคงที่ ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.02 เมตร 3. จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำลดลง 0.70 เมตร ช่วงวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.27 เมตร 4. จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำลดลง 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.58 เมตร 5. จังหวัดนครพนม ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.10 เมตร ช่วงวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.3 เมตร 6. จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.85 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.10 เมตร 7. จังหวัดอำนาจเจริญ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.55 เมตร และ 8. จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลง 0.20 เมตร ช่วงวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.94 เมตร
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ กอนช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เตรียมความพร้อม และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบ ที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้วย.