วันพุธ ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 12.53 น.
สถานการณ์ โควิด 19 จังหวัดอำนาจเจริญ ข้อมูล ณ.วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 08.00 น. จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานว่า ผู้ป่วยวันนี้ 0 ราย ผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่ 2 ราย สะสม 4 ราย หายป่วย 4 ราย เสียชีวิต 0 ราย ผู้เข้าเกณฑ์สงสัย(PUI) รายใหม่ 0 ราย สะสม 202 ราย ผู้ที่เดินทางกลับมาจาก พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 – 2 กุมภาพันธ์ 2564 รายใหม่ 66 ราย สะสม 13,069 ราย และ จังหวัดอำนาจเจริญ ไม่พบผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ติดต่อกัน 33 วัน
จึงเป็นการการันตีได้ดีว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ทุกภาคส่วน ทำงานกันอย่างหนัก และประชาชนชาวอำนาจเจริญ ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทำให้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID) มีผู้ติดเชื้อเป็น 0 ติดต่อกันกว่า 1 เดือนแล้ว
และที่ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ตั้งแต่มีการระบาดรอบแรก จนถึง ระลอกใหม่นี้ ก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด 19 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นอำเภอชายแดนติดแม่น้ำโขง ตลอดแนวระยะทางเกือบ 50 กิโลเมตร ตรงข้าม ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ชาวอำเภอชานุมาน ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และทำประมงเป็นอาชีพเสริม ด้วยการนำเอาปัญญาชาวบ้าน บอกสอนจากบรรพบุรุษ ทำเครื่องมือจับปลา ดักปลา หลากหลายชนิด และที่น่า ทึ่ง ก็คือ อุปกรณ์จับปลา ชื่อว่า ตุ้มดักปลา ทำไม่ยาก ทว่า เมื่อนำไปใช้ ได้ผลดีมาก เพราะจับปลาได้เป็นจำนวนมาก เรียกว่า ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกิน เลยทีเดียว
อย่างเช่น นายองอาจ แก้วลา อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 177 หมู่ที่ 1 บ้านชานุมาน ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ หนึ่งในหลายคน ที่ยังต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อปากท้อง ให้อยู่รอด ปลอดภัย และจากพิษ โควิด 19 จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยหาเวลาว่างจากการเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ นำตุ้มไปดักปลาตามริมแม่น้ำโขง ใกล้กับสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมาน ได้ปลามาจะเก็บไว้ทำอาหารและทำปลาร้า ที่เหลือจะแบ่งขายให้ผู้สนใจ ได้เงินวันละ 300 – 500 บาท เป็นการเสริมรายได้ดีอีกทางหนึ่ง
นายองอาจ แก้วลา อายุ 46 ปี ช่วงซ่อมรถจักรยานยนต์มืออาชีพ แต่ไม่รับปรับแต่งรถ เพราะผิดกฎหมาย ขณะเก็บกู้ตุ้มดักปลา กล่าวว่า เปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์มาหลายปีแล้ว ร้านตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลชานุมาน อ.ชานุมาน ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 1 กิโลเมตร เวลาว่าง ไม่มีรถเข้ามาซ่อม จะนั่งทำการจักสานไม้ไผ่กลายเป็นตุ้มดักปลา จนครบ 10 ตุ้ม จากนั้นช่วงเช้าจะนำตุ้มพร้อมใส่รำเป็นเหยื่อล่อปลา ไปวางไว้ริมแม่น้ำโขง ใกล้กับ สำนักงานเทศบาลตำบลชานุมาน ก่อนเวลา 12.00 น. ก็จะไปตรวจดู ตุ้มทั้ง 10 ตุ้ม ถ้าพบว่า แต่ละตุ้มมีปลาเข้าตุ้ม จำนวนมาก ก็จะนำปลาออกมาจากตุ้ม ใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมมา จากนั้น จะนำรำเติมเข้าไปในตุ้ม เพื่อล่อปลาอีกครั้งและ นำไปวางไว้ที่เดิม ซึ่งใน 1 วัน จะไปตรวจสอบและเก็บปลา ที่ตุ้ม 3 เวลา คือ เช้า กลาง เย็น ปลาที่ติดตุ้ม ส่วนใหญ่จะเป็น ปลาขาว ซึ่งจะนำไปประกอบอาหาร ทำปลาร้า ที่เหลือจึงจะขาย ได้เงินวันละ 300 – 500 บาท เป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง หากเป็นหน้าเทศกาล การท่องเที่ยวอื่นๆ จะมีรายได้วันละ 900 – 1,000 บาท เพราะปลาแม่น้ำโขงเนื้อนุ่ม อร่อยมาก จึงมีผู้นิยมบริโภคตลอดเวลา บางคน จะมาดักรอซื้อ ตรงจุดที่วางตุ้มดักปลา ซึ่งกำลังนำปลาออกจากตุ้ม เพราะต้องการปลาสด ตัวเป็นๆ เมื่อนำไปปรุงอาหาร บริโภค ว่ากันว่า จะมีรสชาติ อร่อย ถึงใจ เลยทีเดียว
ส่วนวิธีการทำงานของตุ้มดักปลา จากภูมิปัญญาชาวบ้านริมโขง นายองอาจ แก้วลา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์คนขยัน กล่าวว่า ตุ้มดักปลา คล้ายข่องใส่ปลา ปากตุ้มจะมีผาปิด ส่วนฐานตุ้มหรือก้นตุ้ม จะทำลักษณะแบบไซดักปลา คือ ปลาเข้าได้ง่าย แต่จะออกไม่ได้ โดยโรยรำข้าว ใส่ลงไปในตุ้ม แล้วนำไปวางไว้ตามจุดที่จะดักปลา เมื่อปลาว่ายผ่านมา ได้กลิ่นหอมของรำข้าว ก็จะเข้าไปกินในตุ้ม เวลาออกจะออกไม่ได้ ส่วนปากตุ้มจะมีฝาปิดอย่างแน่นหนากันปลาออก ปลาจะติดอยู่ในตุ้ม จนกว่า จะไปเก็บกู้ตุ้ม นำปลาออก ใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ หากเก็บปลาจนครบ ทั้ง 10 ตุ้มแล้ว ซึ่งแต่ละตุ้ม จะทำการใส่รำข้าว ดักปลาอีกครั้ง ถ้าหากเก็บกู้ตุ้มตอนเย็น ก็จะนำตุ้มกลับบ้านด้วย เพื่อนำมาวางดักปลาในตอนเช้าวันต่อไป
นายองอาจ แก้วลา ผู้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาทำกิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ติดตามข่าว การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID) ทุกวัน และทางอำเภอชานมุมาน ได้มีการเดินรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เสียงตามสายอย่างต่อเนื่อง และยังมีจุดคัดกรอง โควิด 19 ด้านทิศเหนือ อ.ชานุมาน ซึ่งผู้ผ่านเข้าออก จะถูฏต้องอย่างเข้มข้น ทุกคน ทำให้ทราบและเข้าใจ มาตรการในการป้องกัน โรคโควิด 19 เป็นอย่างดี ไม่ว่า การสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ก่อนออกจากบ้าน หรือไปหาคนอื่น กินร้อนช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อยครั้ง การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด.