ปภ.แจ้ง 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังช่วงวันที่ 14 – 15 ต.ค. 65
วันนี้ (12 ต.ค. 65) เวลา 21.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (279/2565) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2565
เวลา 17.00 น. แจ้งว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางในคืนนี้ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางช่วงวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2565 ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2565 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ9 จังหวัด ดังนี้
– มุกดาหาร (อ.เมืองฯ ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง)
– กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ สหัสขันธ์ หนองกรุงศรี ท่าคันโท ยางตลาด ฆ้องชัย)
– มหาสารคาม (อ.เมืองฯ โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เชียงยืน)
– ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง โพนทราย)
– ยโสธร (อ.เมืองฯ ค้อวัง มหาชนะชัย ป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว)
– อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน เสนางคนิคม)
– สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท พนมดงรัก จอมพระ ท่าตูม ชุมพลบุรี รัตนบุรี สำโรงทาบ)
– ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ ขุนหาญ กันทรลักษ์ ราษีไศล ห้วยทับทัน อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์ ยางชุมน้อย วังหิน ภูสิงห์ น้ำเกลี้ยง)
– อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ นาจะหลวย นาเยีย น้ำขุ่น ดอนมดแดง สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร เขมราฐ เดชอุดม สำโรง เขื่องใน ตระการพืชผล)
กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดดังกล่าว และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมที่มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งหากมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที กรณีสถานการณ์ขยายวงกว้าง ให้จัดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กลไกของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด หากทรัพยากรในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบไม่เพียงพอ ให้ประสานขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียง เพื่อให้การปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นไปอย่างคล่องตัว
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วในพื้นที่น้ำท่วมขัง
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”และหากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย”รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่