‘บิ๊กเด่น’ ผบ.ตร.ร่วมมือ ‘ดีอีเอส’ ลุยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฉ้อโกงหลอกลวงออนไลน์
พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 22 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 38 (พ.ศ.2528) และจบการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์จาก City University ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ยังได้สำเร็จหลักสูตรต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ หลักสูตร Pacific Training Initiative (PTI) ของ F.B.I. หลักสูตร การควบคุมฝูงชน ของ Tacoma Police Department ประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ.รุ่นที่ 59) ประวัติรับราชการ ในตำแหน่งสำคัญๆ ได้แก่
ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) รองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ผู้บัญชาการ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 3 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่ง ในตอนนี้ ได้แก่ การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ตามนโยบายรัฐบาล ที่มีพบเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี คอยขับเคลื่อนและกำชับการปฎิบัติ แก้ไขปัญหาฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง และล่าสุดมีการหารือ โดยมี พลเอกประวิตร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จใน 3 เดือน ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
(1) การเสนอร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ พ.ศ. …. ซึ่งในขณะนี้ ดีอีเอสได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ทำให้ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหากรณีพบพฤติกรรมที่ต้องสงสัยและสามารถระงับพฤติกรรมดังกล่าวได้ ตัดวงจรอาชญากรรมก่อนกระทบในวงกว้าง
(2) การแจ้งเตือนภัยออนไลน์ผ่านแอพลิเคชั่นเป๋าตัง (3) การแก้ไขปัญหาการยืนยันตัวตนใน Mobile Application (4) การดำเนินการกับผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์จำนวนมากและที่ไม่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามระบบ ส่วนในช่วงที่ผ่านมามีสถิติ แจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 132,747 เรื่อง แยกเป็น คดีออนไลน์ 22 ประเภท
กรณีหลอกลวงซื้อขายสินค้าสูงสุด จำนวน 43,323 คดี การโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 18,143 คดี และการหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน จำนวน 15,887 คดี สามารถจับกุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 แยกเป็น พนันออนไลน์สูงสุด 697 คดี ผู้ต้องหา 1,198 คน และการหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน 686 คดี ผู้ต้องหา 782 คน
มีการการปิดกั้นข้อความ SMS/โทรหลอกลวง จำนวน 94,043 หมายเลข และดำเนินคดีแก๊งค์ Callcenter 46 คดี มีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 60 ราย การอายัดบัญชีม้าจำนวน 47,245 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม การดำเนินคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุน- ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน จำนวน 562 คดี และปิดกั้นเว็บไซต์พนันจำนวน 1,691 เว็บไซต์ นับเป็นงานที่เกิดจาการความเอาจริงเอาจังของ ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมือกัน