คอลัมน์ Smart SMEs ttb analytics
ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2564 ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า และมีธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการทำให้ลูกจ้างและคนงานบางส่วนต้องกลับภูมิลำเนา
ซึ่งจากสถิติจำนวนธุรกิจที่ปิดกิจการไตรมาสแรกปี 2564 มีประมาณ 20,000 ราย สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานเพราะการปิดกิจการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้แรงงานย้ายออกจากจังหวัดดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สูงถึง 44% ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด
การเคลื่อนย้ายแรงงานจากหัวเมืองเศรษฐกิจย่อมต้องมีจังหวัดปลายทาง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินทิศทางธุรกิจ SMEs ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่แรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา หลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเชิงพื้นที่และภาคธุรกิจ ดังนี้
1.การเคลื่อนย้ายในเชิงพื้นที่
แรงงานส่วนใหญ่มีการย้ายจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี พบว่าแรงงานเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบแรงงานในจังหวัดเมืองรอง โดยมีอัตราส่วนสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงสุดในประเทศ ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ
แม้การย้ายกลับภูมิลำเนาไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนมากนัก เพราะยังเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาใช้ในการบริโภคในครัวเรือนได้ แต่กลับมีผลกระทบเรื่องรายได้
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาว่า 76% ของครัวเรือนเกษตรไทยพึ่งพารายได้นอกเหนือจากภาคการเกษตรตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19
เพราะรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต ภัยธรรมชาติ และราคาสินค้าในช่วงเวลานั้น ๆ ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สูง เนื่องจากรายได้จากสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานนอกภาคการเกษตรลดลง และรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำเนินชีวิตในภูมิลำเนา
2.การเคลื่อนย้ายของภาคธุรกิจ
แรงงานมีการเคลื่อนย้ายจากภาคบริการและการผลิตในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากขึ้นในพื้นที่ภูมิภาค เมื่อพิจารณาด้วยตัวเลขธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่ามีจำนวน 23,000 รายเปิดกิจการใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานและจังหวัดเมืองรอง ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจสินค้าแปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร
การเคลื่อนย้ายแรงงานและเปิดกิจการในต่างจังหวัดที่เกิดขึ้นช่วงเวลานี้ กลับเป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้เติบโต ดังนั้น การสนับสนุนธุรกิจในภูมิภาคมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน หากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนร่วมกับแรงงานที่ย้ายภูมิลำเนา ทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่แข็งแรง
แรงงานเหล่านี้หากมีการเพิ่มทักษะและพัฒนาความรู้ด้านช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์แก่ SMEs ในท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาและให้ความรู้ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตรได้อย่างแน่นอน