หลายพื้นที่ในบ้านเราเกิดภัยแล้งซ้ำซากทุกปี ครั้นจะขุดบ่อกักเก็บน้ำ บางพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการขุด บางแห่งขุดไปเสียเงินเปล่า เพราะน้ำซึมออกหมด แทบไม่ได้ใช้
การขุดบ่อน้ำบาดาลจึงเป็นอีกตัวเลือกที่ค่อนข้างชัวร์ มีน้ำใช้แน่นอน เพียงแต่ต้องทำตามขั้นตอนและวิธีการที่ได้รับคำแนะนำ ฉะนั้นโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงเกิดขึ้น
กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก หมู่ที่ 5 ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เป็นอีกกลุ่มที่ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
เดิมทีชาวบ้านแถบนี้มักประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี ฤดูแล้งปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น กระทั่งปี 2558 จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร
มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้การมีส่วนร่วมของสมาชิก ให้น้ำระบบน้ำหยด และระบบพ่นหมอกในแปลงปลูกผักอินทรีย์ รวมถึงทำนาข้าวอินทรีย์
สามารถผลิตน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ไม่น้อยกว่าปีละ 83,220 ลบ.ม. พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 150 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 54 ราย มีโรงเรือนปลูกผัก 40 โรงเรือน
กระทั่งได้ทำสัญญาคอน–แทร็กฟาร์มมิ่งกับห้างโมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่ ส่งผักอินทรีย์ขึ้นห้าง ทำให้มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น
จนส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ต่อมาจึงได้ขอความอนุเคราะห์กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดสรรงบประมาณ “โครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” ประจำปีงบประมาณ 2562 และ 2563
สามารถผลิตน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 32,850 ลบ.ม. พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 477 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มอีก 39 ราย มีโรงเรือนปลูกผักเพิ่มขึ้น 160 โรงเรือน
ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองเม็ก สามารถผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตถึงเดือนละ 800,000 บาท
ถือเป็นอีกโครงการของภาครัฐ ที่ส่งเบ็ดตกปลา แล้วสอนวิธีการตกให้กับประชาชนได้อย่างตรงจุด ไม่ใช่หว่านเงินไปละลายแม่น้ำ ดังหลายโครงการที่เห็นกันบ่อยครั้ง.
สะ–เล–เต