เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนและตรวจรับงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายคำแสน ประเสริฐสุข พัฒนาการอำเภอนาตาล พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน
โดยการลงพื้นที่อำเภอนาตาล ของ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ ได้ประชุมร่วมกับพัฒนาการอำเภอนาตาล และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน พร้อมติดตามและตรวจเยี่ยมการปรับพื้นที่แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) แปลง นายเสมียน ขันจันทา อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 6 บ้านาคอม ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี มีผู้อาศัยในครัวเรือน 3 คน ประเภทของเอกสารสิทธิเป็นโฉนด พื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 15 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วนแบบ 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย หน่วยทหารพัฒนาที่จะดำเนินการขุด คือหน่วยทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 (นพค.51 อำนาจเจริญ) เริ่มดำเนินการขุดเมื่อวันที่ 12 พฤษาคม 2564 ปัจจุบันผลดำเนินการขุดอยู่ที่ร้อยละ 90 และมีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลที่จะดำเนินการในพื้นที่แห่งนี้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนรักป่า ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ และฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ ในส่วนของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ในพื้นที่แปลง มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน โดยได้ร่วมกันกับเจ้าของแปลงวางแผนและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ และได้ช่วยกันสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ชั่วคราวในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลง
โดยนายเสมียน ขันจันทา ได้เปิดเผยว่า “ตนเอง ภรรยา และลูกสาว ได้มีความสนใจในการทำเกษตรอยู่ก่อนแล้ว แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์คือทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรก็ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำรดต้นไม้ พอทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาตาล และจากผู้นำหมู่บ้าน จึงได้ปรึกษาภรรยาและลูกสาว สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ โดยใช้พื้นที่มีอยู่เกือบทั้งหมดเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งในอนาคตหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ และถือว่าตนโชคดีที่มีลูกสาว พร้อมที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย แบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอนาตาล มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แยกเป็นงบพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ 9 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 6 รวม 15 แปลง งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 82 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 38 แปลง รวม 120 แปลง และ CLM พื้นที่ 15 ไร่ 3 แปลง และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จำนวน 32 คน และได้รับงบประมาณโครงการฯ รวม 12,863,400 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO ในภาพรวมทุกกิจกรรมแล้ว 7,658,400 บาท คิดเป็นร้อยละ 59.54 (ข้อมูลวันที่ 1 มิถุนายน 2564)
โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ ยังได้พบปะกับคณะทำงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการฯ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลงในพื้นที่ ได้พบปะและกล่าวกับเจ้าของแปลงและผู้ที่ มาร่วมต้อนรับว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง CLM นี้ เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ ซึ่งท่านได้ผ่านการอบรมและได้รับความรู้ภาคทฤษฎีมาแล้วนั้น จึงต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ และดำเนินการสร้างฐานเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน ต้องทำให้ฐานเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มาเรียนรู้ทักษะ โดยการฝึกปฏิบัติตามที่ตนเองสนใจ และอยากเรียนรู้ นำไปสู่การดำรงชีวิต ขอให้ท่านทำต่อไปอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิต และเป็นต้นแบบในการขยายผลต่อยอด ก่อนติดตามและสนับสนุนการรดำเนินงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านแมีความสุขความเจริญสืบไป”