อุตุฯเตือนพายุ “ซูลิก” มุ่งถล่มอีสานด่านแรก ส่วนภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลโดนหางเลขฝนตกหนัก ชี้เป็นพายุลูกแรกที่เข้าไทยเต็มๆ ขณะที่สถานการณ์จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังระทม ที่หนองคายชุมชนเหนือประตูระบายน้ำกว่า 3,000 ครอบครัวยังจมถึง 1 เมตร นครพนมสั่งหยุดเดินเรือสำราญล่องโขง ด้านแม่ฮ่องสอนฝนกระหน่ำน้ำป่าไหลซัดโรงเรียนเป็นรอบสอง ส่วนชาวแม่สายสุดช้ำดินโคลนเต็มบ้าน แถมถูกรีดเลือดซ้ำข้าวแกงแพงลิ่วจานละ 100 ที่สตูลคลื่นลมแรงซัดถนนขาดสะบั้นเป็น 100 เมตร
ขณะที่มหาอุทกภัยในหลายจังหวัดยังไม่คลี่คลาย กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนรับมือพายุลูกใหม่ที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง จ่อพัดกระหน่ำภาคอีสานและภาคเหนืออีกระลอก ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน หลังจากในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาไม่หยุดและน้ำป่าไหลหลาก
เฝ้าระวังพายุโซนร้อน “ซูลิก”
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเรื่อง พายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 9 (201/2567) ระบุว่า เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 19 ก.ย.พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซูลิก” แล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออก เฉียงเหนือของเมืองกวางตรี ประเทศเวียดนาม ประมาณ 90 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 17.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในคืนนี้ (19 ก.ย.67) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
กระทบทุกภาคทำฝนตกหนัก
ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนมากบริเวณจังหวัดลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
เป็นพายุลูกแรกเข้าไทยตรงๆ
ด้านนายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกอง อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพายุลูกนี้พายุจะมีผลกับประเทศไทยในช่วงวันที่ 19-21 กันยายน ถือว่าเป็นพายุลูกแรกของปีที่เข้าประเทศไทยโดยตรง ที่เราคาดการณ์เอาไว้คือตอนนี้มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาจากประเทศจีนด้วยและจะเจอกับพายุลูกนี้ มีความเป็นไปได้ 2 อย่างคือ พายุจะแรงขึ้น หรืออ่อนกำลังลงเมื่อเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอ่อนหรือแรงขึ้นก็ยังจะทำให้มีฝนตกหนักอยู่ดี ตกหนักถึงหนักมากในช่วงเย็นๆวันที่ 19 กันยายน คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 150-200 มิลลิเมตร โดยเฉพาะที่สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และบึงกาฬ ส่วนกรุงเทพมหานครก็อยู่ในแนวเดียวกันกับเส้นทางพายุ คาดว่าฝนน่าจะตกหนักถึงหนักมากเช่นเดียวกัน คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 90-100 มิลลิเมตร
น้ำป่าซัดถล่ม ร.ร.แม่ฮ่องสอน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังหนักที่จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงค่ำที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักใน อ.แม่สะเรียง ทำให้น้ำป่าไหลหลากลงลำห้วยเอ่อท่วมโรงเรียนบ้านจอสิเดอเหนือ ต.แม่คง รอบที่สองในปีนี้ กระแสน้ำไหลเชี่ยวซัดรั้วไม้โรงเรียนพังเสียหายยาวประมาณ 5 เมตร ฐานเสาและป้ายชื่อโรงเรียนล้ม นอกจากนี้ น้ำพัดต้นไหม้ใหญ่โค่นลงมาพาดสายไฟฟ้าขาด หลังเกิดเหตุนายณัฐพงค์ เหล่ากาวี ผู้อำนวยการ โรงเรียนจอสิเดอเหนือร่วมกับครูในโรงเรียนตรวจสอบความเสียหายพบว่าน้ำค่อยๆลดลงเรื่อยๆ กระทั่งรุ่งเช้าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนยังคงเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ขณะเดียวกันนายอำเภอแม่สะเรียงสั่งให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านและ อบต.แม่คงลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย
ไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์เสียหายยับ
นายอาคม น่านกร ครูโรงเรียนบ้านจอสิเดอเหนือ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนัก จู่ๆ น้ำป่าไหลบ่าลงมากะทันหันช่วงประมาณ 22.00-23.00 น. น้ำไหลลงลำห้วยข้างโรงเรียนซัดรั้วโรงเรียน ป้ายชื่อ ลวดสลิงขาด ระบบไฟฟ้าประปาใช้ไม่ได้ ระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 10 วัตต์ไม่สามารถใช้ไฟได้ แต่ประเมินแล้วยังเปิดให้เด็กมาเรียนได้ สำหรับโรงเรียนแห่งนี้สอนตั้งแต่ ป.1-ป.6 นักเรียน 78 คน เมื่อสัปดาห์ก่อนเคยถูกน้ำป่าถล่มมาแล้ว ช่วงหน้าฝนโรงเรียนจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งอาหารยากลำบาก เพราะถนนถูกตัดขาด กระทบอาหารของเด็กนักเรียน รวมไปถึงราษฎรในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
ระทึกรถดินถมท่อทรุดตกน้ำดับ
ส่วนที่ จ.ลำปาง หลังฝนตกหนักน้ำป่าไหลท่วมหลายอำเภอ ปรากฏว่าช่วงค่ำที่ผ่านมาเกิดเหตุสลดรถบรรทุก 6 ล้อ ของเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ประสบอุบัติเหตุระหว่างบรรทุกดินไปถมท่อน้ำที่ถูกน้ำซัดชำรุดพุ่งตกถนนเลียบแม่น้ำจาง หมู่ 6 ต.ป่าตัน พลิกคว่ำลงน้ำ ทำให้นายปรีชา วงศ์นันตา อายุ 59 ปี คนขับและพนักงานจ้างภารกิจของเทศบาลถูกรถทับเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถแบ็กโฮยกนำร่างขึ้นมาอย่างทุลักทุเลกว่า 5 ชม. นายกู้เกียรติ วงศ์ฟัก ปลัดเทศบาลป่าตันนาครัว เผยว่า ผู้ตายเป็นลูกจ้างของเทศบาลมาปฏิบัติหน้าที่ขับรถขนดินถมท่อที่ถูกน้ำกัดเซาะ จุดเกิดเหตุเป็นทางแคบ ล้อหลังเกิดตกริมตลิ่ง ตัวรถพลิกตกน้ำทั้งคันทับร่างเสียชีวิต หลังเกิดเหตุจะประชุมผู้บริหารเพื่อเยียวยาช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากผู้ตายเป็นคนขยันตั้งใจทำงาน ช่วงเกิดเหตุเป็นเวลานอกราชการ แต่ก็ยังมาช่วยคนขับถมท่อที่ชำรุดจนเกิดเหตุสลดขึ้น
แม่น้ำวังล้นทะลักท่วมเกาะคา
ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง รับน้ำมาจาก อ.เมืองลำปาง ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำวังเพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นท่วมพื้นที่ติดริมน้ำตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา บริเวณร้านชาบู บ้านพักราชการ ที่อยู่ใกล้สะพานแม่น้ำวัง เขตเทศบาลตำบลเกาะคา เจ้าหน้าที่ใช้โดรนบินสำรวจพบว่าสภาพแม่น้ำวังมีสีแดงและไหลเชี่ยวกราก ส่วนบริเวณฝายน้ำล้นเทศบาลมีน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ขณะที่ชาวบ้านจัดเวรยามมาเฝ้าดูระดับน้ำ หากมีน้ำสูงขึ้นให้รีบแจ้งเพื่อนบ้านอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยทันที
เคลียร์ซากน้ำป่าหน้า ม.พะเยา
จ.พะเยา นายปราโมกข์ ปิงเมือง ผอ.ชลประทานพะเยา ร่วมกับนายนิกร ยะกะจาย นายอำเภอเมืองพะเยา นำตำรวจทหาร จิตอาสา อาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกันทำความสะอาดชุมชนหอพักหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา บ้านห้วยเคียน ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา หลังถูกน้ำป่าพัดถล่มเสียหายหนัก นายปราโมกข์เปิดเผยว่า หลังน้ำลดจนแห้งแล้วได้สนธิกำลังภาครัฐเอกชน นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา องค์กรส่วนท้องถิ่น จิตอาสาร่วมกันล้างทำความสะอาด คาดว่าใช้เวลาอีก 2-3 วัน ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ
สภาทนายฯดูจุดทำทางรถไฟ
ขณะที่ตัวแทนสภาทนายความ จ.พะเยา เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างอุโมงค์แม่กา โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ บ้านหม้อแกงทอง ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา อยู่ติดกับถนนพหลโยธินขาล่อง ด้านทิศตะวันออก เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีการก่อสร้างขวางทางน้ำทำให้น้ำเอ่อท่วมชุมชนหอพักหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา นายวัชระ บุญปลอด ตัวแทนสภาทนายความจ.พะเยา เปิดเผยว่า จากการสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง มีการนำดินมากองทับถมเป็นบริเวณกว้างนับร้อยไร่ พบแนวถนนทำเป็นคันดินกั้นน้ำมีท่อขนาด 1 เมตรฝังใต้แนวถนนถูกน้ำพัดพังทลาย คิดว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงตามที่ชาวบ้านสงสัย ดูแล้วเวลาเกิดฝนตกน้ำระบายไม่ทันแน่นอน
ต้องมีคนรับผิดชอบกับ ปชช.
“เรื่องการช่วยผู้ประสบภัยต้องแบ่งเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกส่วนที่ได้รับความเสียหายส่วนตัวกลุ่มนิสิต ม.พะเยาและหอพัก อีกส่วนหนึ่งมีการทำประกันภัยไว้ จุดที่มาพบตรงนี้เป็นภาพรวมภาพใหญ่ ตรงนี้เป็นต้นเหตุจริงๆต้องมีคนรับผิดชอบกับชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะดูแล้วไม่ใช่น้ำท่วมอย่างธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ตามที่เราคิด เหตุน้ำท่วมเกิดจากจุดนี้จริงๆ คงต้องหาคนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ได้” นายวัชระกล่าว
ซ่อม จยย.-เครื่องใช้ไฟฟ้าฟรี
ที่บริเวณศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยวัดพรหม วิหาร เขตเทศบาลตำบลเวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีช่างไฟจิตอาสาในพื้นที่ จ.เชียงรายและต่างจังหวัดตั้งเต็นท์รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าฟรีทุกอย่างตั้งแต่ตู้เย็นพัดลม เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ สามารถซ่อมได้ 70-80 เครื่องต่อวัน ส่วนที่สวนสาธารณประโยชน์ ต.แม่สาย กลุ่มจิตอาสาช่างซ่อมแซมรถจักรยานยนต์มาตั้งเป็นศูนย์ซ่อมรถให้กับผู้ประสบภัย หลังมีรถถูกน้ำป่าซัดเครื่องพัง บางคันถูกฝังจนมิดโคลนได้รับความเสียหายกว่า 1,000 คัน เฉลี่ยซ่อมได้วันละไม่ต่ำกว่า 40-50 คัน
ข้าวแกงฉวยขึ้นตกจานละ 100
ขณะที่บรรยากาศการเก็บกวาดดินโคลนชุมชนตลาดแม่สายที่บ้านเกาะทราย บ้านไม้ลุงขนและบ้านเหมืองแดง ต.แม่สาย เจ้าของบ้านพร้อมลูกหลานยังคงช่วยกันตักโคลนทรายออกจากบ้านที่กองทับถมอยู่ในบ้านสูงตั้งแต่ 1 เมตรไปถึง 3 เมตร บางคนว่าจ้างแรงงานเสียค่าแรงคนละ 400-600 บาท หากเหมาเป็นทีมคิดราคาหลังละ 5,000-10,000 บาท บ้านไหนมีแต่ผู้หญิงและคนแก่ก็ไม่มีเงินจ้างคนมาช่วยขุดทราย ส่วนจะไปเรียกร้องทางราชการมาช่วยตักก็เป็นไปได้ยากและไม่ทั่วถึง เพราะบ้านใน 3 ชุมชนมีมากกว่า 1,000 ครอบครัว ขณะเดียวกันราคาอาหารก็พากันขึ้นราคาหลายเท่าตัว ข้าวแกงฉวยขึ้นราคาจานละ 80-100 บาท ส่วนอาหารกล่องในศูนย์พักพิงมีไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แรงงานชาวเมียนมาสวมรอยไปรับกันรอบละ 10-20 กล่อง กว่าจะถึงคิวข้าวก็หมดก่อน
กระจกเงาช่วยชาวเชียงราย
ด้านมูลนิธิกระจกเงายังคงระดมความช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นำสิ่งของเครื่องใช้พวกเสื้อผ้าผู้หญิงผู้ชาย เสื้อชั้นนอก เสื้อชั้นใน ชุดเด็ก รองเท้า ผ้าขนหนู และผ้าเช็ดตัว ที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคส่งต่อไปให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำกกเอ่อท่วมสูงเดือดร้อนแสนสาหัสในพื้นที่บ้านน้ำลัด หมู่ 3 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย โดยให้ผู้ประสบภัยมาหยิบได้ตามความจำเป็นที่ต้องใช้ เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึง
เร่งสูบน้ำช่วย 3 พันครอบครัว
ส่วนสถานการณ์น้ำจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง วันเดียวกัน นายสมภพ สมิตะสิริ ผวจ.หนองคาย ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเหนือประตูระบายน้ำห้วยวังฮู อ.เมืองหนองคาย พร้อมดูการสูบน้ำจากประตูระบายน้ำห้วยวังฮูลงสู่แม่น้ำโขง โครงการชลประทานหนองคายติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 4 เครื่อง เป็นขนาด 24 นิ้ว 1 เครื่อง ขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 12 นิ้ว 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมงจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนกว่า 3,000 ครอบครัว ขณะนี้น้ำยังสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเรื่อยๆจนต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ 13 เมตรแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้ามาใน 1-2 วันนี้
“บิ๊กป้อม” นำทีมไปหนองคาย
สายวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมนายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ สส.หนองคาย เขต 1 น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 1 และนายวิริยะ ทองผา สส.มุกดาหาร เขต 1 ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยใน อ.เมืองหนองคาย พร้อมมอบถุงยังชีพกว่า 3 พันชุดแจกจ่ายไปยังชุมชนหนองบัว ชุมชนสระแก้ว (วัดศรีบุญเรือง) ชุมชนวัดธาตุใต้ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พล.อ.ประวิตรกล่าวกับชาวบ้านว่า มาด้วยความห่วงใย เห็นใจในเรื่องของอุทกภัย มาเยี่ยมด้วยความรักต่อพี่น้องชาว จ.หนองคาย มีอะไรที่อยากให้เราช่วยเหลือก็ให้แจ้งมายังมี สส.พร้อมทำให้ชีวิตพี่น้องประชาชนดีขึ้น
หยุดเดินเรือสำราญล่องโขง
ที่ จ.นครพนม แม่น้ำโขงทรงตัวอยู่ในระดับ 11.70 เมตร ห่างจุดเฝ้าระวังเตือนภัย 12 เมตร เพียงแค่ 30 ซม. น้ำไหลเชี่ยวมีเศษกิ่งไม้ลอยเกลื่อนกระทบการเดินเรือ ล่าสุดจังหวัดนครพนมประสานสำนักงานเจ้าท่าสาขาภูมิภาคนครพนมแจ้งผู้ประกอบการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ล่องแม่น้ำโขงหยุดเดินเรือชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีปัญหาจุดเทียบเรือ ไม่สะดวกในการรับผู้โดยสารลงเรือ คาดว่าอีกประมาณ 4-5 วัน หากแม่น้ำโขงลดลงสามารถเดินเรือได้ตามปกติ ส่วนเรือโดยสารขนาดเล็กบริการข้ามฝั่งไทย-สปป.ลาว ระหว่างเมืองนครพนมกับแขวงคำม่วนยังบริการประชาชนตามปกติ พร้อมกำชับให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกราย และเตรียมความพร้อมของเรือ รวมถึงคนขับเรือต้องมีความเชี่ยวชาญการเดินเรือในช่วงน้ำโขงไหลเชี่ยว
ทำแนวกันน้ำรับพายุลูกใหม่
จ.บึงกาฬ แม่น้ำโขงลดลงเช่นเดียวกัน แต่ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะบ้านหอคำ หมู่ 1 ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในที่ลุ่มและติดกับลำน้ำได้รับผลกระทบมานานกว่า 1 สัปดาห์ ระดับน้ำยังท่วมถนนสูง 80 ซม. การสัญจรเข้าออกต้องใช้เรือเท่านั้น นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ ลงพื้นที่นำข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน ไปมอบให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 64 ครัวเรือน ส่วนในขณะเทศบาลเมืองบึงกาฬ เจ้าหน้าที่ร่วมกับทหารเรือ นรข.เขตหนองคายระดมกำลังนำกระสอบทรายทำแนวป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลบริเวณถนนบึงกาฬ สี่แยกสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองบึงกาฬ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำท่วมขังซ้ำซาก รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบพายุ “ซูลิก” ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 20-22 ก.ย.
ห้าม นทท.เล่นน้ำตกตาดโตน
ที่ จ.ชัยภูมิ นายนพวงค์ พฤกษชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตาดโตน ต.นาฝาย อ.เมืองชัยภูมิ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำรวจทำแนวป้องกันพื้นที่เสี่ยงในเขตอุทยานฯ หลังจากได้รับประสานจากเจ้าหน้าที่เขื่อนลำประทาว (เขื่อนบน) แจ้งว่าเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนทุกวัน 300,000 ลบ.ม. และปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้น้ำไหลลงมายังลานน้ำตกตาดโตนเพิ่มขึ้นและมีสีแดงขุ่น เกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว แต่ยังสามารถเข้ามาท่องเที่ยวและถ่ายภาพวิวสวยทางธรรมชาติและน้ำตกได้ตามปกติ อนุญาตถ่ายภาพกับน้ำตกเฉพาะจุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้เท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด
ลดปล่อยน้ำชีช่วยกระชังปลา
นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจติดตามการระบายน้ำบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น ไปตามเส้นทางน้ำสายใหม่หนองโคตร-บึงกี-แก่งน้ำต้อน ตามแผนบริหารจัดการน้ำในเขตเมือง เพื่อเตรียมรับมวลน้ำหลากในช่วงสุดสัปดาห์นี้ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล 4 ท่อ วางตามแนวถนนศรีจันทร์ช่วงบึงหนองโคตรไปจนถึงบึงกี นายไกรสรกล่าวว่า แม่น้ำชีผ่านเขตขอนแก่นมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตร ส่วนน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ร้อยละ 43 ยังรับน้ำได้อีก 1,400 ล้าน ลบ.ม. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำชีเสนอพิจารณาปรับลดการกระบายน้ำจาก 20-22 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 15 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาสถานภาพปลากระชังในพื้นที่และเร่งระบายน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชีและน้ำพองในเขตจังหวัดใกล้เคียง
ปิกอัพฝ่าฝนต้นไม้ล้มทับดับ
จ.ระยอง เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรงพัดต้นไม้ริมถนนทางหลวงสาย 344 (บ้านบึง-แกลง) กม.ที่ 89 ช่วงโค้งเขาวังจิก ฝั่งมุ่งหน้า จ.ชลบุรี หมู่ 8 ต.กระแสบน อ.แกลง จนโค่นทับรถปิกอัพอีซูซุ สีแดง ทะเบียน นข 3379 ระยอง ขณะวิ่งฝ่าสายฝน ผ่านมาพอดี เป็นเหตุให้นายธวัตร วงศ์พิน อายุ 67 ปี คนขับ เสียชีวิต ส่วนภรรยาที่นั่งมาด้วยบาดเจ็บสาหัส ถูกนำส่ง รพ.แกลง สอบถามญาติพบว่า ผู้ตายและภรรยาเดินทางไปรดน้ำศพญาติในพื้นที่ ต.ปากน้ำ ประแสร์ อ.แกลง ขากลับเกิดฝนตกหนักและลมแรงตลอดทาง ถึงที่เกิดเหตุมีต้นไม้ล้มลงมาทับรถเต็มๆ
สตูลคลื่นซัดถนนขาดสะบั้น
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ที่ จ.สตูล ล่าสุดมีประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัยแล้ว 6 อำเภอและอีก 1 อำเภอ คือ อ.ทุ่งหว้า ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติวาตภัย รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบครอบคลุม 7 อำเภอ ล่าสุดระดับน้ำลดลงเล็กน้อย แต่ยังสูงถึงหน้าอก โดยพื้นที่หมู่ 1 ต.ละงู อ.ละงู เกิดพายุกระหน่ำขึ้นชายฝั่งอย่างรุนแรงและคลื่นซัดเข้าหาฝั่งกัดเซาะชายตลิ่งและถนนที่ชาวบ้านใช้เดินทางไปท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านถูกคลื่นซัดถนนขาดระยะทางประมาณ 100 เมตร นายธีระพงษ์ คุ่มเคี่ยม นายอำเภอละงู ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและเตรียมเสนอ ผวจ.สตูล ทำทางเบี่ยงให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรก่อนชั่วคราว
คลองอู่ตะเภาเอ่อท่วมสวน
ที่ จ.สงขลา ฝนตกสะสมบนอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ชายแดนไทย-มาเลเซีย น้ำป่าไหลหลากลงคลองเอ่อท่วมบ้านน้ำลัด หมู่ 6 ต.สำนักแต้ว อ.สะเกา เป็นหมู่บ้านด่านแรกที่รับน้ำที่ไหลมาจากเขาน้ำค้าง น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมมัสยิดที่อยู่ติดคลอง สุ่มเสี่ยงที่จะเอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้าน หากยังมีฝนตกสะสมอีกหลายวัน ส่วนอีกจุดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมคือในพื้นที่หมู่ 4 บ้านปริก ต.ปริก อ.สะเดา น้ำในคลองอู่ตะเภาล้นตลิ่งท่วมสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้านตลอดแนวคลองอู่ตะเภา เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แนวลำคลองอู่ตะเภาทั้งในพื้นที่ อ.สะเดา และ อ.คลองหอยโข่ง เฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยที่เป็นทางน้ำและถูกน้ำท่วมเป็นประจำ
พายุมุ่งหน้าถล่มภาคอีสาน
ต่อมาช่วงเย็น กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่องพายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 10 (202/2567) ระบุว่าเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 19 ก.ย. พายุโซนร้อน “ซูลิก” เคลื่อนที่ขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางตรี ประเทศเวียดนามแล้ว มีศูนย์กลางห่างไปทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครพนมประมาณ 250 กิโลเมตร หรืออยู่ที่ละติจูด 16.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.1 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย.