กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงเปิดตัวสมุดภาพ “The Mekong Harmony: แม่น้ำโขง สัมพันธ ‘ภาพ’ แห่งชีวิต” สะท้อนคุณค่าและความสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จนเกิดเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิต พร้อมเปิดเวทีเสวนาแม่น้ำโขงในมุมมองคนรุ่นใหม่ ซึ่งมี ‘ไครียะห์ ลูกสาวทะเลจะนะ’ ร่วมแลกเปลี่ยนเองการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม
16 ธ.ค. 2564 วานนี้ (15 ธ.ค. 2564) เวลา 16.30-18.30 น. ที่สวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) จัดงานเปิดตัวสมุดภาพและนิทรรศการภาพถ่าย “The Mekong Harmony: แม่น้ำโขง สัมพันธ ‘ภาพ’ แห่งชีวิต” เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ประกอบกันอย่างสมดุล ทั้งจากสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศที่ซับซ้อนในลุ่มน้ำโขง และต่อวิถีชุมชนในลุ่มน้ำโขง โดยมีฮานส์ อูลริช ซูดเบค (Hans-Ulrich Südbeck) อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย มาเป็นประธานเปิดงาน
มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจากสถานทูตเยอรมนี
ฮานส์ อูลริช ซูดเบค (Hans-Ulrich Südbeck)
อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
ภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการและรวบรวมไว้ในหนังสือภาพเป็นผลงานของมนตรี จันทวงศ์ และชนาง อำภารักษ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ที่บันทึกไว้ขณะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่ไทย ลาว กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม แต่ละภาพในนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คนริมโขงที่ผูกพันกับธรรมชาติและแม่น้ำโขงในบริบทที่ต่างกันของทั้ง 5 ประเทศ ภาพเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของคนริมโขงบริเวณประเทศไทยและลาวที่มีความหลากหลายทางอาชีพ เพราะระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งเป็นหาดทรายและผาหิน คนจึงไม่นิยมไปสร้างบ้านเรือนติดริมน้ำ เพราะสงวนพื้นที่เหล่านั้นไว้สำหรับทำเกษตรริมโขง หรือใช้เป็น ‘ลวง’ หาปลา ซึ่งแตกต่างจากชีวิตริมโขงของชาวกัมพูชาบริเวณโตนเลสาบที่ตั้งรกรากถิ่นฐานและบ้านเรือนอยู่กลางน้ำเพราะเป็นพื้นที่ชุมน้ำ และคนริมโขงในเวียดนามที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นตลาดค้าขายและทำประมง
สมุดภาพ The Mekong Harmony: แม่น้ำโขง สัมพันธ ‘ภาพ’ แห่งชีวิต
มนตรีเลือกภาพถ่ายชาวประมงที่แก่งกะเบา อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ให้เป็นภาพที่ประทับใจที่สุด พร้อมเล่าให้ผู้สื่อข่าวประชาไทฟังว่าหากมองเผินๆ ก็จะคิดว่าเป็นชาวประมงทั่วไป แต่เรื่องราวสำคัญข้างหลังภาพคือสาหร่ายที่อยู่ในมือของชาวประมง เพราะนั่นไม่ใช่สาหร่ายที่ติดมากับแหแล้วเก็บทิ้ง แต่ชาวประมงบอกกับมนตรีว่าสาหร่ายพวกนี้มีไข่ปลาขนาดเล็กเกาะอยู่ เมื่อหาปลาเสร็จ เขาจะมานั่งแกะสาหร่ายออกจากแหหรืออุปกรณ์จับปลาอื่นๆ แล้วนำสาหร่ายเหล่านั้นไปทิ้งคืนในแม่น้ำโขง เพื่อให้ปลาที่อยู่ในไข่ได้มีโอกาสเติบโต กลับมาหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตและระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างเป็นวัฏจักร
มนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และภาพถ่ายที่ประทับใจที่สุด
“สิ่งนี้สะท้อนว่ามิติของการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน มันดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยที่จริงๆ แล้วเราไม่รู้ หลายครั้ง เราไปเรียกชาวประมงว่าเป็นผู้ล่า ซึ่งมันคนละเรื่องเลย แล้วภาพนี้เป็นภาพที่ผมคิดว่ามันสะท้อนการทำมาหากินที่เข้าใจธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกัน คือเขาก็จับปลา แต่ในเวลาไข่ปลาติดมากับแห เขาก็เห็นและปล่อยคืนอยู่แม่น้ำ ให้โอกาสได้เติบโตต่อไป” มนตรีกล่าว
ขณะที่ชนางเลือกภาพถ่ายที่ อ.แก่งส่องใหญ่ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เป็นภาพถ่ายที่ประทับใจที่สุด โดยชนางเล่าว่าภาพนี้เป็นภาพถ่ายระบบนิเวศของ ‘บุ่ง’ (หนองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากหินถูกกัดเซาะ) เล็กๆ บุ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อนวัฏจักรของระบบนิเวศแม่น้ำโขงในระดับใหญ่ได้ทั้งหมด
ชนาง อำภารักษ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และภาพถ่ายที่ประทับใจที่สุด
“ปกติ แก่งนี้เวลาน้ำหลาก น้ำจะท่วมไปหมด พอเวลาน้ำลดจะเห็น ‘บุ่ง’ ซึ่งที่ชอบภาพนี้เพราะว่ามันเห็นระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกันเยอะมาก” ชนางกล่าว พร้อมเล่าว่าเมื่อน้ำลด ที่บุ่งนี้จะมีลูกปลาจากแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่อาศัยเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะมีตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายแม่น้ำโขง (ไก – ถิ่นเหนือ / เทา – ถิ่นอีสาน) ซึ่งเป็นอาหารของปลา นอกจากนี้ยังมีปลาที่โตเต็มวัย หรือสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น หอย เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเช่นกัน
ชนางอธิบายต่อไปว่าหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในภาพนี้มีต้นไคร้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ และรากของต้นไคร้ก็เป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับให้ปลามาวางไข่ ในขณะเดียวกัน ภาพนี้ก็มีคนกำลังใช้สวิงร่อนหาปลา ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนั้นตอบโจทย์ความหลากหลายของแม่น้ำโขงที่ประกอบไปด้วยคน สัตว์ พืช และสิ่งไม่มีชีวิต
“ถ้าเราเอาคนเป็นหลัก [ภาพนี้]ก็เหมือนห้องครัว แต่จริงๆ ถ้าเรามองให้กว้างออกไป เราจะเห็นว่ามีสรรพชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศเล็กๆ นี้เยอะมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็สามารถเป็นตัวแทนในภาพที่ใหญ่ขึ้นของแม่น้ำโขงได้ ก็เลยชอบมาก” ชนางกล่าว
นอกจากนี้ ในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “The Mekong Harmony: สายน้ำสัมพันธ์” ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ โดยมีผู้ร่วมเสวนาหลัก คือ อารียา ติวะสุรเดช นักกิจกรรมแม่น้ำโขง นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความสัมพันระหว่างมนุษย์และแม่น้ำโขง และมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ โดยรอบแม่น้ำ ดำเนินรายการโดยณิชา เวชพานิช ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวกรีนนิวส์
(ซ้ายไปขวา) อารียา ติวะสุรเดช, รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ และณิชา เวชพานิช
ในการเสวนา ผู้เสวนาหลักมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าแม่น้ำโขงเป็นมากกว่าแม่น้ำที่ไหลจากที่สูงเพื่อหาทางออกสู่ทะเล แต่เส้นทางที่แม่น้ำโขงไหลผ่านคือการสร้างชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืช หรือแม้กระทั่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้สิ่งไม่มีชีวิตได้มีคุณค่า ต่อชีวิตให้กับคนในพื้นที่ได้ ผู้เสวนายังเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โครงการพัฒนาแม่น้ำโขงทุกโครงการต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ เพราะพวกเขาคือบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทุกวันนี้เหมือนมี ‘คนนอก’ มาสั่งการพัฒนาสิ่งต่างๆ แต่ไม่เคยถาม ‘คนใน’ สักครั้งเลยว่าการพัฒนาน้ำโขงจากมุมคนนอกที่มองแต่เรื่องเศรษฐกิจนั้นสร้างความเจ็บปวดใดๆ ให้คนริมโขงบ้าง ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนากล่าวโดยสรุปว่าการประชาชนไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่เขาต้องการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตัดสินใจ เพราะการกระทำของรัฐส่งผลต่อประชาชนในระยะยาว รัฐอย่ามัวแต่คิดถึงการพัฒนาในแง่การเติบโตของตัวเลข แต่ต้องคิดถึงการพัฒนาที่มีประชาชน มีชีวิตต่างๆ รวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมท่ายทอดเรื่องรางเกี่ยวกับแม่น้ำโขงในแบบฉบับของตน โดยมีไครีห์ยะ ระหมันยะ จากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาบ้านเกิดให้ยั่งยืนและตอบโจทย์คนในพื้นที่ให้มากที่สุด
ไครียะห์ ระหมันยะ