เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“จุรินทร์”ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวศรีสะเกษ ชาวบ้านยื่น 5 ประเด็นขอให้ช่วยเหลือ เผยเห็นด้วยเพิ่มข้าวอินทรีย์ในโครงการประกันรายได้ ดันขึ้นทะเบียน GI เพิ่มอีก 2 สินค้า “ผ้าลายลูกแก้วเบญจศรี-ตะกร้าสานครุน้อย” พร้อมเร่งแก้ปัญหาโคกหนองนาโมเดล วัวป่วยโรคลัมปิสกิน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบปะกับตัวแทนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีศรีสะเกษ เพื่อหารือร่วมกันในการบริหารจัดการพืชผลทางการเกษตร และยังได้รับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลพื้นที่เขตตรวจราชการ จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นเรื่องโดยตรง ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 5 ประเด็น
สำหรับประเด็นที่ 1 ได้ขอให้เพิ่มข้าวอินทรีย์ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งได้รับว่าจะนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป โดยเห็นว่าดี เพราะจะช่วยจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ หันมาทำข้าวหอมมะลิมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น และตรงกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” และต้องบอกว่าเกษตรอินทรีย์มาถูกทาง เพราะตลาดอนาคตต้องการ
2.ลำห้วยฟ้า 15 กิโลเมตร ที่ยังขาดงบประมาณอีก 425 ล้าน ชลประทานเขตรับเรื่องและเร่งดำเนินการ โดยจะดำเนินการให้ได้ตามที่สัญญาไว้กับประชาชน
3.โคกหนองนาโมเดล ที่เป็นต้นแบบช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินการมีความคืบหน้า แต่ในบางส่วนยังติดปัญหา 1.เรื่องการขุด ขาดบุคลากรช่วยแนะนำช่วยดำเนินการ 2.หาเครื่องมือ 3.ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ได้มอบผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการหาข้อสรุปแผนบูรณาการ และรายงานกลับมาที่ตนให้ทราบด้วย ซึ่งควรประชุมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.เรื่องวัวป่วยเป็นโรคลัมปีสกิน วันที่ 5 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขอความเห็นชอบ และครม. เห็นชอบอนุมัติงบ 684 ล้านบาท เพื่อ 1.จัดซื้อวัคซีน 5 ล้านโดส 230 ล้าน 2.จัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อเป็นการรักษาวัว 200,000 ตัว 361 ล้านบาท 3.จัดซื้อเวชภัณฑ์พ่นฆ่าเชื้อ และ 4.บำรุงฟื้นฟูสุขภาพสัตว์
5.สนับสนุนการขึ้นทะเบียน GI ของสินค้าสำคัญที่มีแหล่งกำเนิดหรือการผลิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ นำไปขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะต้องผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ มี 1.ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ 2.หอมแดงศรีสะเกษ 3.กระเทียมศรีสะเกษ 4.ทุเรียนภูเขาไฟศีรษะเกษ 5.ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง และ 6.เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน โดยมีอีก 2 สินค้าที่ควรเร่งดำเนินการ คือ 1.ผ้าลายลูกแก้วเบญจศรี 2.ตะกร้าสานครุน้อย ซึ่งได้มอบให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว