กมธ.กัญชาค้านออก พรก.ใช้ช่วงสุญญากาศ อ้างจะเกิดความไม่หลากหลาย “ศุภชัย” ยันไม่คิดยื้อร่าง พรบ. คาดออกเป็น กม.ภายใน ก.ค.-ส.ค. ระบุปลูกน้อยกว่า 5 ไร่ถือเป็นผู้ปลูกรายเล็กไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม “เอี่ยม” ฉะ “ภูมิใจไทย” ทำกัญชาเสรีเพื่อการเมือง ปล่อยเสรีก่อนค่อยออก กม.คุม เตือนกระแสตีกลับได้ไม่คุ้มเสีย “กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท” หนุนภาคีเครือข่ายทั่ว ปท.จับตาใช้กัญชาอย่างถูกต้องนำร่อง 8 จว.
ที่รัฐสภา วันที่ 27 มิถุนายน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีมีการเสนอให้ออก พ.ร.ก.กัญชา กัญชง มาใช้ในช่วงระหว่างสุญญากาศการรอพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ว่าไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะจะส่งผลให้เกิดความไม่หลากหลายในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งใน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), นักกฎหมาย, ภาควิชาการ และภาคสังคม ที่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ ซึ่ง กมธ.ไม่เห็นด้วย การพิจารณาใน กมธ.จึงมีมิติหลากหลาย นำไปสู่การออกกฎหมายที่มีความครบถ้วนรอบด้านและสมบูรณ์ที่สุด
โดย กมธ.จะรับฟังความเห็นจากประชาชน นำมาปรับปรุงกฎหมายให้ดีที่สุดกว่าในวาระแรก และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธาน กมธ.ไม่มีความคิดที่จะยื้อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ยาวนานออกไป จะให้เสร็จเร็วที่สุด คาดว่าภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.
นายปานเทพกล่าวต่อว่า กมธ.รับฟังข้อห่วงใยต่างๆ แต่ไม่อยากให้การปลูกกัญชาถูกกลบด้วยกระแสความห่วงใยเกินจริง ซึ่งการกลัวจนเกินขอบเขตจะส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจกัญชา กัญชงที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กมธ.ได้ข้อยุติเบื้องต้นการปลูกกัญชา หากปลูกน้อยกว่า 5 ไร่ถือเป็นผู้ปลูกรายเล็ก ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าใบอนุญาต แสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายนี้ไม่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงไม่อยากให้เสนอข่าวเกินความจริง เช่นกรณีข่าวผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา ควรตรวจสอบว่ามีการใช้กัญชาจริงหรือไม่ ส่วนใหญ่คนใช้กัญชาแล้วจะหลับ ไม่มีส่วนกระตุ้นประสาทให้ไปก่อเหตุร้าย หรือควรตรวจสอบว่า มีการใช้กัญชาร่วมกับสารกระตุ้นอื่นหรือไม่ เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบ้า แล้วโยนความผิดให้กัญชาให้ตัวเองพ้นผิด โดยอ้างเสพกัญชาอย่างเดียว
ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีจีนและเกาหลีใต้ออกประกาศเตือนประชากรของตนที่พำนักอยู่ในแคนาดาห้ามยุ่งเกี่ยวกับกัญชา ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกลงโทษเมื่อกลับประเทศว่า แม้ประเทศไทยจะดําเนินการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นข้อกังวลและข้อห่วงใยจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลต้องรับฟังอย่างครบถ้วนรอบด้าน มิฉะนั้นกระแสจะตีกลับ ได้ไม่คุ้มเสีย พรรคเพื่อไทยไม่ขัดขวางกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ กัญชาเสรีต้องระมัดระวังและควบคุมให้ดี เพราะกระทบกับสังคมในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนเปิดกัญชาเสรีต้องออกกฎหมายควบคุมให้รอบคอบก่อน ไม่ใช่ เปิดเสรีก่อนแล้วค่อยมาออกกฎหมายควบคุมในภายหลัง
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ไม่เพียงท่าทีกังวลใจของจีนและเกาหลีใต้ เชื่อว่าจะมีอีกหลายประเทศออกมาตั้งข้อสังเกต ด้วยความกังวลใจในประเด็นกัญชาเสรีเพิ่มเติมอีก ดังนั้นต้องออกระเบียบเพิ่มเติมเพื่อจำแนกกัญชาครัวเรือน กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเพื่อการค้า จะควบคุมและกำหนดสัดส่วนอย่างไร หากชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เมื่อเดินทางกลับออกไปถูกตรวจจับมีสารกัญชาที่อาจตกค้างในร่างกายในรูปแบบของอาหาร หรือ สินค้านำเข้าจากประเทศไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา ในขณะที่หลายประเทศจัดกัญชาเป็นยาเสพติด รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร มีแนวทางป้องกันปัญหาเหล่านี้อย่างไร
“ต้องยอมรับว่ากัญชาเสรีที่รัฐบาลไทยภูมิใจ ภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีข้อกังวล รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงมิติทางการแพทย์ ทางสุขภาพ และทางเศรษฐกิจให้สมดุล ไม่ทำนโยบายกัญชาเสรีเพื่อการเมือง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบทางลบในวงกว้างที่รัฐบาลอาจไม่คาดคิด” นายอนุสรณ์กล่าว
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กพย.ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังระบบยาและจัดการความรู้ระบบยาเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยสังคม ซึ่งกัญชาถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะนี้ กพย.ร่วมกับ สสส.เร่งพัฒนากระบวนการเฝ้าระวังกัญชาอย่างเร่งด่วน สร้างความร่วมมือผู้นำเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยาในพื้นที่ (นพย.) 86 คนทั่วประเทศ และชมรมเภสัชชนบท พัฒนาเป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังกัญชาในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, สกลนคร, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย เร่งให้ข้อมูลความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชน และทดลองกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่นำร่อง
“นพย.เน้นการทำงานเฝ้าระวังแบบเกาะติด มุ่งเป้าสำรวจสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ เช่น วิสาหกิจชุมชน, ร้านอาหาร, ร้านค้า, ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หากจำเป็นจะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจสาร THC รวมถึงการสำรวจการขายทางออนไลน์ เพื่อประมวลผลรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละจังหวัด ส่งต่อรายงานสู่ส่วนกลาง นำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป” ผศ.ดร.ภญ.นิยดากล่าว.