ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง อำนาจเจริญ ผลิตข้าวอินทรีย์มีคุณภาพมาตรฐาน ตลาดแน่น สร้างรายได้ที่มั่นคงสู่เกษตรกรสมาชิก
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 64 นายประมวล ขันเพชร ประธานวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง หมู่ 5 ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า คนในชุมชนบ้านโนนค้อทุ่ง อาชีพหลักคือทำนาแบบใช้สารเคมีมาแต่เดิม เกษตรกรทำนาทุกปีขาดทุนทุกปี จึงมีแนวคิดที่จะพึ่งพาตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และรวมตัวกันเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ เมื่อปี 2546 โดยการฝึกอบรมสัจธรรมชีวิต เพื่อเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด เพื่อใช้ทดแทนสารเคมี และแจกจ่ายกันไปใช้ในพื้นที่นาของตนเอง จากเดิมมีสมาชิกเพียง 10 ราย ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อจำหน่าย แต่ตลาดข้าวของกลุ่มก็ยังคงเป็นตลาดที่ขายร่วมกับข้าวที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะปีแรกประสบปัญหาเรื่องการตลาด เพราะข้าวเปลือกของกลุ่มยังไม่ได้รับรองมาตรฐานการผลิต และยังขาดตลาดรองรับที่เพียงพอ จึงคิดหาวิธีการเพื่อหาตลาดที่รับซื้อข้าวอินทรีย์โดยเฉพาะ และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่งขึ้นเมื่อปี 2548 พร้อมกับได้พัฒนากระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์เข้าสู่การตรวจรับรองมาตรฐาน IFOAM มาตรฐาน EU และมาตรฐาน COR จนประสบความสำเร็จได้รับการรับรองในที่สุด
ต่อมาในปี 2560 ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีสมาชิก 35 ราย พื้นที่การปลูก 725 ไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล และข้าว กข6 แล้วนำผลผลิตข้าวมาสีแปรสภาพ บรรจุถุงสุญญากาศเพื่อจำหน่าย ใช้ชื่อว่า ข้าวซ้อมมือหอมมะลิแดง ข้าวกล้องเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวกล้องสามพญา ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ 105 ข้าวกล้องหอมมะลิแดง และข้าวขาวหอมมะลิ 105
ในแต่ละปีเกษตรกรปลูกข้าวเพียงแค่ 1 รอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี คอยลงพื้นที่เพื่อดูแลและตรวจสอบแปลงของสมาชิกแต่ละรายเป็นประจำ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการสีแปรสภาพเพื่อการจำหน่าย สำหรับกระบวนการสีแปรสภาพข้าวในแต่ละเดือน ที่ต้องสีข้าวส่งลูกค้าตามออเดอร์สั่งซื้อ สมาชิกจะร่วมมือกัน สีข้าว คัดข้าว บรรจุข้าว ซึ่งกลุ่มมีความพร้อมทั้งกำลังคนและเครื่องมือ มีตลาดรองรับที่แน่นอน ผลผลิตจึงสามารถจำหน่ายไปยัง บริษัททีวีบูรพา โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ศูนย์การประชุมไบเทค โรงแรมในเครือของสามพราน และร้านอาหาร Sizzler สร้างรายได้ต่อปีกว่า 4 ล้านบาท
ด้าน นายอนุชาติ คชสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์ฯ เข้ามาดูแลกลุ่มเกษตรกร ตามโครงการนาแปลงใหญ่ โดยเป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้และเทคนิควิธีการผลิตข้าว สนับสนุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงให้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งกลุ่มมีความเข้มแข็ง ใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตข้าว เป็นกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า สามารถที่จะผลิต แปรรูปข้าวจำหน่าย และหาตลาดได้เอง.