กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ศูนย์อนามัยทุกแห่ง เตรียมความพร้อมบุคลากรและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม รับมือสถานการณ์พายุ “โกนเซิน” ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคของประเทศ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ศูนย์อนามัยทุกแห่ง เตรียมความพร้อมบุคลากรและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม รับมือสถานการณ์พายุ “โกนเซิน” ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคของประเทศ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา “พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน”” ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 13 กันยายน 2564 พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” บริเวณชายฝั่งของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ดังนั้น ในเบื้องต้น กรมอนามัย ได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยทั่วประเทศเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับกรณีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง เช่น การจัดการสุขาภิบาลอาหาร การจัดการขยะ จัดหาน้ำสะอาด และชุดนายสะอาด ประกอบด้วยถุงดำขนาดใหญ่สำหรับใส่ขยะ ถุงดำเล็กสำหรับใส่อุจจาระ น้ำยาล้างจาน สบู่ เจลล้างมือใช้ทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคหยดทิพย์ (คลอรีนน้ำ) ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ นอกจากนี้ประชาชนควรระมัดระวังสัตว์และแมลงมีพิษที่มากับน้ำท่วม รวมถึงการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน หากน้ำกำลังท่วมให้ปลดสวิตช์ (เบรกเกอร์เมน)เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า และควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้บริเวณที่มีน้ำหลาก เพื่อป้องกันการจมน้ำ และสำหรับในกรณีที่ตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขอให้ทุกพื้นที่เน้นย้ำมาตรการ DMHTT เพื่อป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย
“ทั้งนี้ ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ควรถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย และให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แต่หากอยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบานและอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์พายุโกนเซิน จากช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเตรียมสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้ง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว