กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer จ.อำนาจเจริญ หลังหนุนเต็มร้อย ยกระดับสู่ผู้ประกอบการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ สร้างผลผลิตคุณภาพเจาะตลาดสินค้า พร้อมเผยทางรอดจากผลกระทบ โควิด-19 ด้วยคาถาเด็ด “ไม่ขี้เกียจเอาเงิน”
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายปฏิรูปการเกษตรประเทศไทย ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งเสริมพัฒนาจนเกิดการยกระดับเกษตรกรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพการเกษตรของชุมชนและเกษตรกรรายอื่นต่อไป ซึ่งอำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จในการยกระดับเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ และสำนักงานเกษตรอำเภอพนา ดั่งเช่น นายสังคม มูลชาติ เกษตรกรที่ได้รับการยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างทันยุคสมัย มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างรายได้จากการทำนา และเกษตรผสมผสานในระบบเกษตรอินทรีย์
ด้าน นายสังคม มูลชาติ เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) อยู่บ้านเลขที่ 142 หมู่ 9 ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ต้องประสบปัญหา ทั้งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การแพร่ระบาดของโรคแมลง รวมถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จึงเกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบอาชีพ และต่อมาได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเกิดความสนใจ เริ่มศึกษาเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนกิจกรรมการประกอบอาชีพมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ โดยแบ่งพื้นที่จากทั้งหมด 7 ไร่ แบ่งเป็นทำนาระบบอินทรีย์ 5 ไร่ และอีก 2 ไร่ ทำเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นธงนำ
“ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ และสำนักงานเกษตรอำเภอพนา คือหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการเข้ามาช่วยแนะนำโดยตรง การสนับสนุนให้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ การพาไปศึกษาดูงาน และที่สำคัญ คือ การเข้ามาสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ซึ่งโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ที่รับการแนะนำและสนับสนุนให้เข้าร่วมถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งแนวปฏิบัติ และแนวคิด แตกต่างจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด ทุกวันนี้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้องและสอดคล้อง เกิดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด รู้จักการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการใช้เครื่องจักรกล เช่น รถแทรกเตอร์และเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์และใส่ปุ๋ย มาใช้ทดแทนแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ และทันต่อฤดูกาลผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตได้คุณภาพ และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
นายสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทำเกษตรผสมผสาน มีกิจกรรมทั้งการปลูกไม้ผลหลากชนิด เช่น มะพร้าว มะนาว มะม่วง มะละกอ กล้วย สละอินโด ฝรั่งกิมจู ไผ่กิมซุง มะขาม และอื่น ๆ สลับผสมผสานกันไป การเลี้ยงปลาในพื้นที่รวม 7 บ่อ มีปลาตะเพียน ปลานิล ปลายี่สก ซึ่งเน้นการผลิตอาหารปลาเองจากวัสดุที่มีในสวนเช่น ต้นกล้วย หญ้าหวาน และการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน โดยทำรั้วตาข่ายล้อมรอบเป็นคอก ผลที่ได้ตามมานอกจากมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย ยังได้ปุ๋ยคอกจากมูลไก่ และไก่ที่เลี้ยงยังช่วยกำจัดวัชพืชให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์พืชเพื่อจำหน่ายเป็นกล้าพันธุ์ อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตโดยนำมาแปรรูปจำหน่าย เช่น ทำกล้วยตาก ทำข้าวต้ม หน่อไม้ดอง ปลาแห้ง เป็นต้น
“จากความสำเร็จได้มีการขยายผลไปสู่เพื่อนเกษตรกร ทั้งในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการทำนาอินทรีย์ มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอร์รี่ข้าวสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวม 42 คน พื้นที่ปลูกรวม 366 ไร่ อีกทั้งยังได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ โดยผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเปลือกหอมมะลิแดงที่ผลิต จะส่งจำหน่ายยังเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำนาจเจริญ เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ขณะที่ด้านเกษตรผสมผสาน มีการถ่ายทอดให้กับผู้สนใจที่เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ในนามศูนย์เรียนรู้ภูภัทรเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งที่เข้ามาศึกษาโดยตรง และเข้าร่วมฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานต่าง ๆ”
นายสังคม กล่าวย้ำว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะทางเครือข่ายที่รับซื้อข้าวไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เช่นปกติ ทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงอย่างมาก แต่ได้ปรับแผนสร้างรายได้ โดยมาเน้นสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจากแปลงเกษตรผสมผสานให้กับผู้บริโภคในตลาดท้องถิ่นแทน ด้วยการส่งผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดเกษตรอินทรีย์อำเภอพนา และตลาดเกษตรอินทรีย์อำเภอลืออำนาจ พร้อมเปิดจุดจำหน่ายบริเวณหน้าสวนของตนเองอีกช่องทางหนึ่ง
“ดังนั้น การจะอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 และต่อไปในอนาคต ทั้งเพื่อนเกษตรกร และผู้สนใจที่ได้รับผลกระทบ ต้องกลับมายังบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ให้อยู่รอดได้ ต้องใช้หลักที่ว่า “ไม่ขี้เกียจเอาเงิน” เพราะทุกอย่างในสวนนั้นสามารถสร้างรายได้ให้หมด หรือพูดง่าย ๆ เงินอยู่ในสวน เช่น มะนาวที่ปลูกและเก็บขายได้ราคาลูกละ 1 บาท จากข้อมูลที่จดลงในบัญชีครัวเรือนเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 64 – 20 ส.ค.64 ขายมะนาวไปได้ 2,000 บาท ผักชนิดต่าง ๆ ที่ปลูกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 64 – 18 ส.ค. 64 ขายได้ 5,000 บาท ขณะที่กล้วยน้ำว้า แค่ขุดหน่อจำหน่ายที่หน่อละ 25 บาท ยังได้เงินถึง 4,360 บาท เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ขี้เกียจ มีความขยัน รับรองอยู่รอดแน่นอน และสำหรับผู้คิดเริ่มต้นและอยากมีรายได้เร็วที่สุด ขอให้เลือกกิจกรรมเพาะขยายพันธุ์ไม้จำหน่าย จะเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด และมีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายและขยายผลกิจการ ซึ่งต้นพันธุ์ไม้ผลที่จะขยายพันธุ์จำหน่ายก็ใช้ต้นที่มีอยู่ในสวนที่ปลูกไว้ ซึ่งทำได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ จะลงมือทำกันหรือไม่เท่านั้นเอง และที่สำคัญขอให้เน้นคุณภาพ เมื่อมีของดีขาย เมื่อลูกค้าเชื่อใจ จะกลับมาซื้ออีกอย่างแน่นอน” นายสังคม กล่าวในที่สุด