นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยสถานการณ์การผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวจากทั่วโลกในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด 504.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.70 ล้านตัน สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเป็น 504.69 ล้านตัน จากเดิม 496.33 ล้านตัน เนื่องจากการบริโภคในประเทศหลัก เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ยังคงเพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า สำหรับผลผลิตข้าวไทยในปี 2564 มีแนวโน้มมากกว่าปี 2563 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง และสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ซึ่งในปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ปริมาณ 6 ล้านตัน และรักษาปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเอาไว้ได้ โดยรัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อันเป็นกลไกการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกไม่ให้ตกต่ำ และดูดซับปริมาณผลผลิตส่วนเกินในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 ขณะนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรมีการดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ออกประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงแล้ว จำนวน 21 งวด และยังคงเหลือการออกประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 9 งวด โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 4.67 ล้านครัวเรือน จากเป้าหมายทั้งหมด 4.68 ล้านครัวเรือน ยังเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่าง เนื่องจากมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ
“ส่วนมาตรการคู่ขนานที่ดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โดยเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง รัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยและให้ค่าเก็บรักษาข้าว ตันละ 1,500 บาท เมื่อข้าวราคาดีเกษตรกรสามารถนำออกมาขายได้ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร เพื่อเร่งการรับซื้อ โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี และ3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต้นทุนการผลิต” นายวัฒนศักย์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน โดยสอบถามความพึงพอใจของเกษตรกร โดยส่วนใหญ่บอกว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงโดยรัฐช่วยให้ราคารับซื้อข้าวเปลือก รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถบรรเทาความเดือดร้อนและยังมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายประโยชน์ มีอยู่ อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้านหนองผักบุ้ง ต.แตล อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปลูกพันธุ์หอมมะลิ 105 เป็นข้าวอินทรีย์ บนที่นา 20 ไร่ เสริมด้วยการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกผักสร้างรายได้สม่ำเสมอตลอดปี โดยนายประโยชน์กล่าวว่า ตนปรับเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ได้ประมาณ 10 ปีแล้ว ผลผลิตเฉลี่ย 380 – 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในปี 2563 ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลงประมาณ 250 กิโลกรัม ข้าวเปลือกขายได้ในราคากิโลกรัมละ 17 – 20 บาท โดยมีต้นทุน 1,500 – 2,000 บาทต่อไร่ ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาให้การช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมและอุดหนุนนำโครงการต่างๆ มาทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปีการผลิต 2563/64 ตนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ข้าว แจ้งเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยได้รับเงินชดเชยส่วนต่างประมาณ 3,000 บาทต่อตัน และยังได้รับเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แล้วเรียบร้อย โดยเงินส่วนต่างที่ได้รับจากโครงการประกันรายได้นำไปต่อยอดทางการเกษตรและใช้จ่ายในครัวเรือน
อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ผันตัวเองจากอาชีพรับจ้างทั่วไปมาเป็นชาวนาเต็มตัวนานถึง 30 ปีแล้ว ก็คือ “นายอนันท์ พูลเพิ่ม” อายุ 50 ปี คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนหนองขอน เกษตรกรบ้านเลขที่ 3 หมู่ 4 ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เจ้าของที่นา 20 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ทั้งหมด 15 ไร่ และอีก 5 ไร่ ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เพื่อบริโภค ต้นทุนการปลูกประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ โดยแบ่งพื้นที่สำหรับทำพันธุ์ข้าวเอาไว้ปลูกในปีต่อไป ทำให้ลดต้นทุนได้ สำหรับผลผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเหนียว กข6 ได้ผลผลิตประมาณ 460 – 470 กิโลกรัมต่อไร่
“ผมเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว แจ้งเก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 โดยส่วนตัวผมมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ช่วยเหลือคนจน ผมได้รับเงินจากโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเรียบร้อย ซึ่งเงินที่ได้รับจากการโครงการของรัฐก็นำไปใช้จ่ายในครัวเรือน ขอบคุณรัฐบาลมากๆ ที่มีโครงการมาช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย” นายอนันท์ กล่าว
ขณะที่ นายวันนา บุญกลม อายุ 54 ปี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ เกษตรกรบ้านหนองตาใกล้ ต.ห้วยไร่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เผยความรู้สึกว่า ตนผูกพันและภาคภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหาร โดยครอบครัวมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 63 ไร่ ปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ โดยปลูกข้าวพันธุ์กข 6 สำหรับบริโภคในครัวเรือน และพันธุ์สำหรับแบ่งขาย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 หอมมะลิแดง และ กข 15 ซึ่งตนขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไว้ 2 แปลงคือ ข้าวเหนียวพันธุ์กข 6 และข้าวหอมมะลิ 105 โดยข้าวทั้งหมดปลูกในวิถีธรรมชาติ นอกจากปลูกข้าวแล้วปลูกพืชผักอีกหลายชนิด เช่น พริก มะเขือ กล้วย มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งปัจจุบันการปลูกข้าวอินทรีย์ของตนได้มาตรฐาน EU NOP และ JAS ข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวกข 6 ได้ผลผลิตประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวหอมมะลิขายได้กิโลกรัมละ 15 บาท และเคยราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 19 บาท
“ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ปลูกเอาไว้กิน เหลือก็แบ่งขายให้เพื่อนบ้านบ้าง แจ้งเก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้รับเงินชดเชยและส่วนต่างชดเชยมาประมาณ 40,000 บาท โดยส่วนตัวคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะเมื่อข้าวมีราคาต่ำกว่าราคาประกัน รัฐบาลก็ชดเชยให้ ชาวนาก็ได้รู้ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ เงินที่ได้มาก็นำไปใช้ทางการเกษตรของตัวเอง ซื้ออินทรีย์วัตถุมาปรับปรุงที่นา ผมก็อยากขอบคุณรัฐบาลแทนพี่น้องชาวนาที่มีโครงการต่างๆ มาช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว” เกษตรกรอำนาจเจริญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือในการช่วยติดตามกำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการชั่งน้ำหนัก และการหักลดความชื้นและสิ่งเจือปน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ หากเกษตรกรพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับซื้อข้าวเปลือก หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน หรือมาตรการอื่น ๆ สามารถร้องเรียนหรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่