เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 18:09 น.
“…เมื่อได้อนุมัติเบิกเงินค่าจ้าง จำนวน 3,480,000 บาท ให้บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขา ปักธงชัย จากนั้นได้มีการถอนเงินจำนวน 1,900,000 บาท เพื่อฝากเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีเงินฝาก นางสาวนฤมล ประยูรหงษ์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายมงคล ประยูรหงษ์ และเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984)..”
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 3 ได้เผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าคดีทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่หลายจังหวัดภาคอีสาน
ซึ่งมีกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลอดีตนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กับพวก กรณีเข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลเมืองเมืองปัก ในโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ ตามสัญญาจ้าง เลขที่ 26/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 จำนวนเงินงบประมาณ 3,500,000 บาท รวมอยู่ด้วย
- รวมฮิต14 คดีทุจริต ‘โคราช-สุรินทร์-อำนาจเจริญ-ยโสธร’ ป.ป.ช.ฟันผอ.ชลประทาน ซื้อท่อ PVC
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลคดีทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ นายมงคล ประยูรหงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
โดยในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ได้มีมติแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา นายมงคล กับพวก เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลเมืองเมืองปัก ในโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ ดังกล่าว
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายมงคล อนุมัติให้เทศบาลเมืองเมืองปักดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งนายมงคล เข้าไปมีส่วนได้เสียในโครงการฯ โดยได้เชิด บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด เพื่อเข้าเป็นคู่สัญญา กับเทศบาลเมืองเมืองปัก
ซึ่งบริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด มีกรรมการบริษัทฯ จำนวน 4 คน ได้แก่ นายอดิศักดิ์ เตียวศิริทรัพย์ ซึ่งเป็นเป็นพี่ชายของ นางวราภรณ์ เตียวศิริทรัพย์ คู่สมรสของนายมงคล
ส่วน นายเกรียงเดช เตียวศิริทรัพย์, นายเกรียงไกร เตียวศิริทรัพย์ และนายชุมพล เตียวศิริทรัพย์ เป็นบุตรของ นายอดิศักดิ์ เตียวศิริทรัพย์
ในการเข้ามาทำงานโครงการปรับปรุงขยายผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีตสายศรีพลรัตน์ ตามสัญญาจ้าง เลขที่ 26/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 นั้น บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ผู้รับจ้างไม่ได้เข้ามาดำเนินการด้วยตนเองแต่อย่างใด
เนื่องจากบริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสถานที่ก่อสร้างซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ประกอบกับ บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด มีเครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น รถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุก 10 ล้อ รวม 3 คัน รถแบ็คโฮ จำนวน 3 คัน รถโม่หิน จำนวน 3 คัน และไม่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างในโครงการดังกล่าวได้
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ซึ่งมีนายมงคล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 100,000,000 บาท และมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้เข้ามาทำงานในโครงการดังกล่าว
โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ได้นำรถบรรทุกเพื่อขนยางแอสฟัลท์ติกนำมาเทใส่รถปูยางแอสฟัลท์ติก รถบดสั่นสะเทือน เพื่อบดผิวแอสฟัลท์ติก รถบดล้อเหล็กเพื่อบดให้ถนนเรียบ และรถบดล้อยางเพื่อนวดถนน
รวมถึงคนงานที่ขับรถบรรทุก และเครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่สร้าง (1984) โดยได้เข้าไปดำเนินการโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกระทั่งดำเนินโครงการแล้วเสร็จ โดยที่บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ไม่ได้ดำเนินการก่สร้าง
ประกอบกับผลตรวจสอบของสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาปรากฏว่า รถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 87-3158 นครราชสีมา ซึ่งปรากฏเป็นภาพยานพาหนะขณะดำเนินการก่อสร้างในโครงการดังกล่าว มีผู้ประกอบการขนส่งและผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ประกอบกับเอกสารรายงานตรวจรับการจ้าง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ขณะดำเนินการก่อสร้างในโครงการดังกล่าว ปรากฏภาพถ่ายรถบดล้อเหล็กที่ได้ติดป้าย “VPC ว.ประยูรก่อสร้าง (1984)”
โดยเทศบาลเมืองเมืองปักไม่ได้รับแจ้งจากบริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ว่า มีการจ้างช่วงตามข้อ 9 ของสัญญาเลขที่ 26/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 เพื่อขอความยินยอมจากเทศบาลเมืองแต่อย่างใด และมีนายอดิศักดิ์ เตียวศิริทรัพย์ เป็นผู้ลงนามมือชื่อในฐานะตัวแทนของผู้รับจ้าง ในรายงานก่อสร้างประจำสัปดาห์ ในโครงการตามสัญญา เลขที่ 26/2559
เมื่อได้อนุมัติเบิกเงินค่าจ้าง จำนวน 3,480,000 บาท ให้บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขา ปักธงชัย
จากนั้นได้มีการถอนเงินจำนวน 1,900,000 บาท เพื่อฝากเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีเงินฝาก นางสาวนฤมล ประยูรหงษ์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายมงคล ประยูรหงษ์ และเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังต่อไปนี้
1. การกระทำของนายมงคล ประยูรหงษ์ ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกรทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และ มาตรา 100 (1) ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 มาตรา 126 (1) ประกอบมาตรา 168)
2. การกระทำของนายชุมพล เตียวศิริทรัพย์ นายเกรียงไกร เตียวศิริทรัพย์ นายอดิศักดิ์ เตียวศิริทรัพย์ ในฐานะกรรมการบริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด , บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด, นางสาวนฤมล ประยูรหงษ์ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมาตรา 100 (1) ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบัน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 มาตรา 126 (1) ประกอบมาตรา 168) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ผลการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป