วันเสาร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 06.00 น.
โครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ฟาร์มสุกรของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปันน้ำปุ๋ยที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพสู่บ่อบำบัดน้ำต่อไปสู่บ่อพักน้ำ น้ำที่ผ่านการบำบัดจนได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะปลูก อาทิ เมื่อปี 2564 ฟาร์มสุกรนพรัตน์ ฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1ฟาร์มสุกรคอนสวรรค์ ฟาร์มสุกรอำนาจเจริญโรงชำแหละสุกรสระแก้ว ฟาร์มสุกรนนทรี ปล่อยน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรวม 222,805 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 649 ไร่ ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยได้ประมาณกว่า 5 แสนบาท เป็นต้น
ขณะที่ฟาร์มสุกรแห่งอื่นๆ ของซีพีเอฟและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟ 4 แห่ง คือ ฟาร์มสันกำแพง ฟาร์มวังทอง ฟาร์มจะนะ และฟาร์มหนองข้องนำน้ำที่บำบัดแล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้เช่นกัน
เสียงสะท้อนจากเกษตรกรที่ขอรับปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์ม ทั้งเกษตรกรที่เป็นรุ่นแรกๆ และเกษตรกรรายใหม่ บอกว่า “น้ำปุ๋ย” เป็นตัวช่วยเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก อาทิค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันที่ต้องสูบน้ำมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงแล้งที่ขาดแคลนน้ำ ปัจจุบัน น้ำปุ๋ยช่วยให้เกษตรกรหลายราย ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้อีกเลยสามารถวางแผนการจัดการผลผลิต และใช้ประสบการณ์ในอาชีพวางแผนการนำน้ำปุ๋ยมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก
พรทิพย์ ขุนศรีภิรมณ์ อายุ 55 ปี มีอาชีพทำนา ทำไร่ ใช้น้ำปุ๋ยของฟาร์มสุกรนนทรี ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของซีพีเอฟในจังหวัดปราจีนบุรี กับไร่อ้อยและแปลงข้าวโพด ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย จากปกติไร่ละ 8 ตัน เป็นไร่ละ 12 ตัน ทำให้สามารถปลูกข้าวโพดในช่วงแล้งได้จากการที่ได้รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาใช้ เพิ่มรายได้ในช่วงแล้งที่ไม่สามารถปลูกพืชได้และยังช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าน้ำมันในการสูบน้ำมารดพืชที่ปลูก
สาคร คงโนนนอก อายุ 58 ปี อาชีพทำนาทำไร่ ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรนนทรีของซีพีเอฟกับนาข้าว ช่วยให้ต้นข้าวสมบูรณ์ในช่วงขาดน้ำและในช่วงที่ต้นข้าวแตกกอ วิธีการคือนำน้ำปุ๋ยมาผสมกับน้ำฝนที่กักเก็บไว้ใส่ในแปลงนาเพื่อเพิ่มปุ๋ยให้ต้นข้าว ส่วนที่แปลงข้าวโพดน้ำปุ๋ยช่วยให้สามารถปลูกข้าวโพดได้ในช่วงแล้ง โดยจะปล่อยน้ำปุ๋ยจากฟาร์มลงในแปลงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของดิน ให้ต้นข้าวโพดดูดซึมน้ำปุ๋ยไปใช้ได้เลย ซึ่งหลังจากใช้น้ำปุ๋ยของฟาร์มช่วยประหยุดค่าปุ๋ยที่เคยใช้ในไร่ข้าวจาก 1 กระสอบต่อไร่ เหลือ 0.5 กระสอบต่อไร่ และแปลงข้าวโพดจากที่เคยต้องใช้ปุ๋ย 1.5 กระสอบต่อไร่ ลดเหลือเพียง 0.5 กระสอบต่อไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันในการสูบน้ำมารดข้าวและข้าวโพดที่ปลูก
อรชร มาโง้ว อายุ 58 ปี อาชีพทำสวนปลูกผักสวนครัว ได้รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1มา 12 ปีแล้ว เพื่อรดแปลงผัก เมื่อ 3 ปีที่แล้วใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มเพื่อใช้รดต้นโกโก้ 2 ไร่ น้ำปุ๋ยช่วยได้มาก ต้นโกโก้เติบโตได้ดีในช่วงแล้งขาดน้ำก็ได้น้ำปุ๋ยมาช่วย เธอใช้น้ำปุ๋ยผสมกับน้ำฝนเพื่อรดต้นโกโก้เป็นการเพิ่มปุ๋ยภายในดิน และใช้น้ำปุ๋ยรดแปลงผักสวนครัวทุกวันแทนการใช้น้ำฝนและน้ำบ่อ น้ำปุ๋ยช่วยลดต้นทุนที่ต้องซื้อดินมาปลูกรองก่อนลงต้นโกโก้จากเดิมที่ต้องใช้ดินปลูกรองก่อนลงต้น 15 กระสอบต่อไปไร่ ปัจจุบันคือใช้น้ำปุ๋ยแทน ไม่ต้องซื้อดินปลูกรองก่อนลงต้นแล้ว
วรวิท แก้วสุนทร อายุ 55 ปี อาชีพทำนาทำไร่ ได้รับน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงชำแหละสระแก้วของซีพีเอฟ เพื่อการปลูกอ้อยมาแล้ว 4 ปี หลังจากนำน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อย ช่วยให้อ้อยแตกกอได้ดีในช่วงแล้ง ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยจากปกติไร่ละ 10 ตัน เพิ่มเป็นไร่ละ 12 ตัน และยังช่วยรดต้นทุนค่าน้ำ ค่าปุ๋ย จากปกติที่จะต้องใส่ปุ๋ยเคมี 3 กระสอบต่อไร่ หลังจากได้น้ำปุ๋ยจากโรงชำแหละสระแก้วลดการใช้ปุ๋ยได้ 1 กระสอบต่อไร่ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
ศรัญญา แตงหวาน อายุ 29 ปี เกษตรกร ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี มีอาชีพปลูกฟักเขียวและฟักทอง สืบทอดอาชีพต่อจากรุ่นพ่อคือ “นายสัมฤทธิ์ แตงหวาน” ซึ่งเป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรขุนนพรัตน์ของซีพีเอฟมานานกว่า 19 ปี เป็นรุ่นแรกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาใช้ เล่าว่าที่ผ่านมาได้รับน้ำใจจากซีพีเอฟปันน้ำปุ๋ยมาให้ใช้อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พ่อแบ่งพื้นที่แปลงปลูกฟักเขียวให้เธอเป็นผู้ดูแลเองพื้นที่3 ไร่ ปัจจุบันก็ยังใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มของซีพีเอฟอยู่การนำน้ำปุ๋ยมาปรับใช้เพื่อให้เหมาะก้บแปลงฟักเขียว คือ นำน้ำปุ๋ยมาพักไว้ในบ่อและผสมกับน้ำก่อนที่่จะนำมาใช้รดแปลงฟักเขียว ทำให้แปลงฟักได้ธาตุอาหารในน้ำปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ได้ผลผลิตดี ฟักลูกโตขายได้ราคา มีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตัวเองได้
นอกจากโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน” จะเอื้อประโยชน์สู่เกษตรกรในแง่ของการช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกลงแล้ว โครงการดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำในองค์กร และนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก กับเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงาน รวมทั้งยังร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมจากการที่เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย