เปิดใจครูนิด เจ้าของไวรัลพากย์เสียงแจ้งงานนักเรียน น่ารักจนนึกว่าดูการ์ตูนอยู่ ได้ผลจนนักเรียนตามส่งงาน เผยครูรุ่นใหม่ต้องปรับตัว TikTok ทำให้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น!!
ไวรัล “ครู-นักเรียน” พากย์เสียงจนนึกว่าดูการ์ตูน!!
“ปกติเราเรียนในห้อง เราก็จะคุยกันด้วยภาษาปกตินี่แหละ แต่บังเอิญว่าช่วงโควิดมันต้องใช้มือถือในการสื่อสาร ทีนี้ครูลองไลน์ถามเป็นตัวหนังสือยาวๆ ‘กรุณาส่งงานเวลา…’ เขาจะไม่ตอบ
ครูก็คิดว่า เดี๋ยวอัดเสียงดีกว่า ทำเป็นพากย์เสียงก็ได้ ต้องมีซักคนนึงแหละต้องกดเข้าไปฟัง ก็เลยถามๆ เขาไป ว่าใกล้จะถึงเวลาส่งงานแล้วนะ ก็เลยมีคนเล่นด้วย คือ ด.ช.เสกสรร ครูก็พูด เพื่อนอีกคนนึงก็โต้ตอบโดยที่ไม่มีตัวหนังสือ มันเลยเป็นความจำเป็น อยากรู้จังเลย ก็เลยกดเข้าไป พอกดเข้าไปก็เลยรู้ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว
พอมีคนเล่นด้วยก็เลยกลายเป็นมีคนเล่นด้วยตลอด เพื่อนก็เข้ามาฟัง ก็เลยรู้เรื่องว่า ใกล้เวลาจะส่งงานแล้ว ทีแรกครูนิดก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไวรัลดัง ก็คือ อยากเก็บไว้ เพราะเสียงเขาน่ารักดี เพื่อนก็ตอบมาน่ารักดี ก็เลยเอาไปลงค่ะ”
“นิด – กมลชนก จำปา” หรือ “ครูนิด” ของนักเรียนโรงเรียนบ้านคำกลางคำสมบูรณ์ ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ย้อนเล่าเหตุการณ์คลิปไวรัลสุดฮาปนน่ารัก ระหว่างตนเองกับนักเรียน ให้แก่ทีมข่าว MGR Live ได้ทราบ
สำหรับคลิปวิดีโอนี้ถูกเปิดเผยผ่านแอปพลิเคชัน TikTok บัญชีผู้ใช้ @nidkamon2 ที่มีผู้ติดตามกว่า 152,900 คน ปรากฏเป็นหน้ากลุ่มไลน์นักเรียนห้องครูนิด ที่มีการพิมพ์ข้อความและส่งคลิปเสียงโต้ตอบกันไปมา ในหัวข้อ “เมื่อครูแจ้งข่าวปรับปรุงรูปแบบการเรียนและมารับเงินอาหารกลางวัน”
และสิ่งที่ทำให้คลิปนี้กลายเป็นไวรัลขึ้นมา ก็คือ คลิปเสียงของนักเรียนชื่อ เสกสรร ที่ถามครูด้วยอารมณ์การพากย์แบบการ์ตูนอย่างได้อรรถรส
“เย่ สมพรปากฉันจริงๆ เลยอะที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ครูคะหนูขอถามอีกหน่อยได้มั้ยคะว่า สรุปคือพรุ่งนี้เอาตังค์ไปสิบบาทใช่มั้ยคะ ไปพรุ่งนี้เหรอคะ?”
ทางด้านของคุณครูนิดเอง ก็ตามน้ำไปกับนักเรียน ด้วยการตอบข้อสงสัย โดยใช้น้ำเสียงราวกับหลุดออกมาจากการ์ตูนไม่แพ้กัน
“ก็คือไม่ได้มาโรงเรียนนะคะ แต่ว่ามันรับใบงานวันจันทร์ค่ะ ไม่ใช่พรุ่งนี้นะคะ เอาเงินมาด้วยเป็นเหรียญบาท ซักสี่ห้าบาท เป็นเหรียญสิบ เป็นเหรียญห้าบาทก็ได้ค่ะ เอามาทอนครูบ้างนะคะ”
จากนั้น เสกสรร ก็ตอบกลับครูนิดและเพื่อนนักเรียนอีกคนไปว่า “ขอบคุณค่ะ อรอุมาพะรุงพะรังที่ตอบฉัน ฉันรู้แล้วตอนนี้ไม่ต้องพูดแล้วก็ได้”
จากความน่ารักในการตอบโต้กันของครูนิดและนักเรียนในความดูแล ส่งให้คลิปดังกล่าวมียอดกดไลก์ไปแล้วกว่า 95,000 ครั้ง และมียอดผู้เข้าชมสูงถึง 530,000 วิว!!
“ปกติที่โรงเรียนจะมีงานศิลปะหัตถกรรมอยู่เป็นประจำทุกปี พอมีโควิด ครูก็เลยไม่ได้ส่งไปประกวด คือ ครูนิดจะทำประกวดเล่านิทานคุณธรรมอยู่แล้ว แต่พอโควิดมากิจกรรมนี้ก็เลยลดลงไป แต่ยังมีใจรักในการจะพาเด็กเล่านิทาน ก็เลยเล่นกัน
เราเรียนในห้องเรียนจะมี 6 ชั่วโมง ไทย, วิทย์, คณิต แต่ว่าในช่วงโควิดครูนิดจะให้เรียนสัปดาห์ละวิชา ลดภาระในการเรียน เด็กบางคนมือถือก็ยืมผู้ปกครองมาใช้ พอดีกว่าวิชานั้นมันค่อนข้างเนื้อหาเยอะ แล้วครูนิดก็เฉลยไปด้วย ทำยังไงก็ไม่ส่งซักที จนได้ทำคลิปเป็นไวรัลออกมานี่แหละค่ะ นักเรียนก็ทยอยส่งงานกันมา
ก่อนหน้านี้ จะเล่นในห้อง แต่ว่าเราจะไม่ได้อัดไว้ค่ะ เพราะเป็นเวลาเรียนอยู่ อันนี้ตอนถามการบ้านเป็นช่วงโควิดก็เลยได้อัดบ้าง” ครูนิด กล่าวต่อว่า อาจนำการแจ้งงานด้วยเสียงพากย์ลักษณะนี้ มาประยุกต์ใช้ในการเรียนต่อไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผล นักเรียนเข้าถึงสิ่งที่ครูต้องการจะสื่อได้มากขึ้น
“ทีแรกเขาไม่ได้เห็นว่าครูเอาไปลง Tiktok เป็นไวรัล จนมันเลื่อนมาหน้า feed ของเขา ครูแกล้งเรารึเปล่า นักเรียนก็เข้าไปอ่านดู มีพี่ๆ เขามาชมกันเยอะเลย เสียงน้องน่ารัก ครูไม่ได้แกล้งนะ คนอื่นเขาบอกว่านี่เป็นผลของเด็กปิดเทอมดูการ์ตูนเยอะไปแน่ๆ ก็เลยพูดพากย์เสียงอย่างนี้ อยากเห็นหน้าน้อง คุณครูทวงงานน่ารักจังเลย ทวงงานไม่ดุเลย อะไรแบบนี้ค่ะ
ต่อไปอาจจะพลิกแพลงเป็นประกาศ อาจจะเป็นคลิปที่ครูพูดหรือเด็กนักเรียนคนนั้นพูด เป็นการนำเสนองานสั้นๆ เพราะว่าถ้าเราติดเรียนช่วงโควิดแล้วจะไม่มีการนำเสนองานในห้อง การสื่อสารอาจจะเป็นแค่พิมพ์ แต่ถ้าอัดคลิปส่งก็จะได้พูดด้วย เด็กทุกวันนี้เล่นกล้องเก่งมากเหมือนกันค่ะ”
“TikTok” เชื่อมสัมพันธ์ครู-นักเรียน
สำหรับจุดเริ่มต้นของการมาเล่น TikTok จนกลายเป็นคุณครูคนดังที่มีผู้ติดตาม 152,900 คน เกิดจากความต้องการที่อยากใกล้ชิด และรู้จักสิ่งในความสนใจของนักเรียนที่อยู่ในความดูแลให้มากขึ้น
“จุดเริ่มต้นมาเล่น TikTok เมื่อปีที่แล้วจะมีนักเรียน ป.6 เขามีท่าเต้น คุณครูซ้อมเต้นให้หนูหน่อย คุณครูเต้น TikTok ออกช่องหนูหน่อย ก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีแอป TikTok แต่ไม่รู้ว่าเล่นยังไง เต้นมีท่าทางก็ออกท่าทางไป เล่นอะไรกันเขาก็เอามาให้ดู ทีแรกก็ไม่ได้ลงคลิปอะไร มี account เฉยๆ ก็เลื่อนดูคนอื่นไปเรื่อยๆ
ทีนี้ก็อยากรู้ว่าโลกของเขาเป็นยังไงบ้าง มันทำให้เรารู้ว่า การที่เราคุยกับเขา ภาษาเดียวกันแล้วมันรู้เรื่อง เขาสนุกในแบบนี้ เราก็ออกแบบการเรียนรู้ให้เขาผ่าน TikTok ก็ได้
แต่ถ้าเป็น TikTok สามารถที่จะเข้าไปดูครูได้เรื่อยๆ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงโควิด เขาก็ห่างหายจากครู นี่ก็ 1 เดือนแล้ว ไม่ได้สนิทเหมือนตอนที่เรียน ถ้าเห็นครูทุกวัน ครูอัปคลิปทุกวัน ก็รู้สึกว่ายังไม่ได้หายไปไหน ได้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น
ก็มีแฮชแท็กส่วนตัวว่า #ครูนิดนะคะ เพราะเวลาคุยกับนักเรียนก็จะเป็น ครูนิดนะคะ หรือ คณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่ายๆ เขาก็จะพูดตาม ติดหูนักเรียนเหมือนกันก็เลยเอามาเป็นแฮชแท็กของตัวเอง”
และถึงแม้คลิปต่างๆ ที่ปรากฏในช่อง @nidkamon2 ของครูนิด ส่วนมากจะเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่เธอยืนยันว่าใช้เวลาว่างในการถ่าย โดยที่ไม่ได้เบียดบังเวลาการสอน
“สิ่งที่ชอบลงจะชอบหยอกนักเรียนในห้อง ชอบแซว ชอบกินขนมเอามาแบ่งกัน แลกเปลี่ยนกัน เป็นโมเมนท์ที่เดี๋ยวเขาก็จบไปแล้ว เขาอยู่ ป.6 ก็เลยอยากเก็บไว้ ถ้าเป็น Lifestyle ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับนักเรียนเลย ก็จะเป็นคำถามที่ผู้ใช้ TikTok อื่นๆ เข้ามาถาม
ถ้าครูนิดจะถ่ายในโรงเรียน คนอื่นก็อาจจะมองว่าไม่ได้สอนเหรอ ทำไมมีเวลาถ่าย TikTok ที่จริงแล้วจะเอาเวลาตอนเที่ยงหรือว่าหลังเลิกเรียนมาถ่ายมากกว่า ถ้าตอนเที่ยงก็จะถ่ายกับนักเรียนติดๆ มาด้วย ไม่ได้ถ่ายในเวลาสอนหรือว่าถ่ายติดคุณครูท่านอื่นโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ก็ไม่ทำค่ะ กลัวคนอื่นมองเข้ามาอาจจะดูไม่ดีด้วย
เบียดบังเวลางานไม่ได้ เพราะว่าห้องเรียนมีเด็กโตแล้ว ถ้าเราถ่ายคนอื่นก็ต้องถ่าย ทั้งสอนเขาไปด้วย เขาก็จะทั้งถ่ายทั้งเรียนไปด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นเวลาเรียนก็เก็บเลย นักเรียนก็เก็บเช่นกันค่ะ”
ในส่วนของการสอนสไตล์ครูนิด ก็ได้นำความรู้เรื่องสูตรลัดมาใช้ต่อยอดกับนักเรียนของตน และในส่วนของการทำโทษหากเด็กคนไหนซุกซนเป็นพิเศษ จะใช้การคัดลายมือเพื่อให้หลาบจำ
“สไตล์การสอน ยกตัวอย่าง คณิตศาสตร์จะทำให้ดูหลากหลายวิธี ถ้าเป็นการเรียนสมัยก่อนอาจจะเป็นวิธีเดียวที่ยาวๆ แล้วหาคำตอบ วิธีทำ ขีดเส้นใต้ แต่ครูนิดไม่ใช่ ครูนิดจะทำให้ดู 3 วิธีด้วยกัน วิธีแรกคือวิธีที่เป็นพื้นฐาน ยาวเลย วิธีที่ 2 เริ่มคิดสั้น คิดนิดนึงเราก็ได้คำตอบเลย วิธีที่ 3 สังเกตแล้วก็ได้คำตอบ อยากให้เขาได้เรียนรู้หลายๆ วิธี
ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันจะลัดขั้นตอนไม่ได้ ทดลองด้วย ถ้าเป็นวิชาอื่นที่เนื้อหาเยอะๆ ก็จะเน้นในมุม mapping ให้เขาเรียนศิลปะไปด้วย บางคนอ่านเยอะๆ ก็อาจเบื่อ ก็อาจจะมีศิลปะเข้ามาแทรกในวิชานั้นๆ ด้วยค่ะ แล้วแต่วิชา
(การทำโทษ) ถ้าเป็น level เล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะใช้สายตาซะมากกว่า (หัวเราะ) เริ่มทำสีหน้าที่ตอนปกติยิ้มแย้มแจ่มใส เสียงดีๆ อาจจะลดโทนเสียงลงให้ดูแข็งมากขึ้น เขาก็จะเริ่มรู้ตัวแล้ว หรือเริ่มไม่สนใจแล้วใช่มั้ย ขออนุญาตสั่งงานเยอะๆ นะคะ เขาก็จะเริ่มรู้แล้วว่าครูเริ่มเปลี่ยนไป
แต่ถ้าเป็นลงโทษ จะลงโทษด้วยการคัดลายมือค่ะ สมัยก่อนอาจจะตี ตอนนี้ลูกใครใครก็รัก ครูก็จะเป็นการคัดลายมือมากกว่า อย่างเช่น ไปแกล้งอรอุมา ก็จะให้คัดคำว่า อรอุมา 100 ครั้งมาส่งในวันนั้น
หรือว่าไปกินน้ำแล้วก็ไม่ขึ้นมาซักที ก็ให้คัดคำว่า หิวน้ำจังเลย เด็กก็ไม่อยากคัดลายมือแล้ว มันเจ็บกว่าโดนตีมือตั้งหลายเท่า (หัวเราะ) ใช้ได้ผล ไม่อยากไปทำอีกแล้ว ไม่อยากคัดลายมือนานๆ การคัดลายมือมันต้องเกร็งตัว ต้องใช้เวลา”
หลายครั้งที่ช่อง TikTok ของครูนิดจะมีเด็กๆ แวะเวียนมาสร้างสีสัน ซึ่งนอกจากการทำหน้าที่เป็นครูแล้ว เธอยังคอยให้คำแนะนำนักเรียนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ไม่ต่างอะไรกับพี่สาวอีกคน
[ ใส่ใจนักเรียนประหนึ่งพี่สาวอีกคน ]
“ถ้าเป็นเด็กเล็ก เราคุยด้วยเล่นด้วยเขาก็จะเล่นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าโตขึ้น เป็นวัยรุ่นเริ่มเมินครู จะสอนอะไรก็เริ่มเมิน ก็จะมีคำศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ หรือเพลงใหม่ๆ บางทีก็ชวนเขาดูอะไร ดูสนิทสนมอาจจะเป็นวัยด้วย เขากินอะไรเอามาแลกเปลี่ยน
ตอนเล่นด้วยคือเต็มที่ เราบอกเขาว่าเล่นคือเล่น แต่พอถึงตอนเรียน ไม่เล่นนะ เก็บนะ ตั้งกฎไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ตอนเรียนปุ๊บเราอธิบายให้เขาฟัง เข้าสู่บทเรียนกันก่อน บอกจุดประสงค์เรียบร้อย ไม่เล่นกันในห้อง ไม่ก้าวร้าวในห้อง แต่ถ้าจบวิชาเรียนปุ๊บ สามารถเล่นได้ เหมือนเป็นพี่สาวคนนึง เขาก็จะไม่ก้าวก่ายเรา
พื้นเพเด็กที่ครูนิดสอน เขาจะอยู่ชนบท จะแยกจากคุณพ่อคุณแม่ ไปทำงานที่ต่างจังหวัด จะอยู่กับคุณตาคุณยาย การที่เขาเข้าสู่วัยรุ่นแล้วบางทีคุณตาคุณยายอาจจะไม่ได้รู้ในส่วนของโซเชียลฯ ครูนิดก็เลยอยากเข้าไปเป็นส่วนเล็กๆ ให้เขาได้เรียนรู้ว่าตรงนี้ถูก-ผิดนะ ได้สอนเขาบ้าง
ส่วนมากจะมาถามเราด้วย มาเล่นกับเราด้วย อยากเข้าถึงนักเรียนมากที่สุด อยากให้เด็กๆ ป.6 ที่จบไป จดจำคุณครูที่ใจดีที่สุดได้มั้ย เหมือนที่เราเรียนจบไปปุ๊บ ใครใจร้ายที่สุดในโรงเรียน ไม่อยากให้เขาจดจำในภาพนั้น อยากเปลี่ยนเป็นว่าจดจำคุณครูที่ใจดีแทนได้มั้ย หรือจดจำคุณครูที่เข้าใจเราที่สุดแทนได้มั้ย”
“ครูคืนถิ่น” หวังพัฒนาบ้านเกิด
มาถึงเรื่องราววิชาชีพข้าราชการครูของครูสาววัย 27 ปีคนนี้กันบ้าง แต่เดิมนั้นเธอเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ โดยเฉพาะสูตรลัดคณิตศาสตร์ และมักจะให้คำอธิบายด้านการเรียนแก่เพื่อนๆ มาเสมอ จุดนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเดินทางสายนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ครูนิดเกิดและโตที่ จ.อำนาจเจริญ ทำไมถึงอยากเป็นครู ตอนที่เรียนมัธยม ครูนิดเรียนห้องเรียน Gifted เรียนเยอะ วันเสาร์ก็เรียน ไม่เคยเรียนพิเศษเลย เรียนโปรแกรมนี้มันยาวอยู่แล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนอื่น มันมีสูตรลัดมากมาย ทำให้อยากจะปล่อยให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง ทำยังไงก็ได้ อยากให้เรียนรู้ง่ายขึ้น วิชาคณิตไม่ได้ยากอย่างที่เด็กๆ คิด เราอยากให้เขาเรียนโดยวิธีการไหนก็ได้ที่มันง่ายที่สุด
สิ่งที่อยากให้เราเป็นครูมากๆ คือเพื่อนต่างห้องก็จะมาถาม หรือว่าเราเรียนไปก่อนเพื่อน เรารู้สึกว่าเราอธิบายพอจะเข้าใจได้ ชอบที่จะอธิบายให้คนอื่นฟัง ก็อยากเรียนครู ถ้าเรามาเป็นครู เราน่าจะสอนให้เด็กไม่ต้องไปเรียนพิเศษ”
หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นที่เรียบร้อย เธอก็ได้สอบเข้าโครงการ “ครูคืนถิ่น” ซึ่งเป็นโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ครูนิดได้กลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด
“เข้าศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หลังจากที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็สอบเข้าโครงการ “ครูคืนถิ่น” โครงการนี้เราต้องไปสอบ TOEIC, TOEFL และ IELTS ก่อนที่จะได้คะแนนมายื่น พอยื่นเสร็จเราก็มาบรรจุเลย
ข้อดีอย่างนึงโครงการนี้ ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับเด็กโดยที่เราไม่ได้แตกต่างกันมาก ภาคเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ทำให้เราสามารถเข้ากับเด็ก เข้ากับผู้ปกครองได้ง่ายขึ้น พูดภาษาอีสาน กินอาหารอีสาน เข้าวัดทำบุญ วัฒนธรรมต่างๆ จะไม่ได้แตกต่างมาก แล้วก็สามารถเดินทางได้สะดวก ก็เลยได้กลับมาบรรจุที่บ้านเราที่อำนาจเจริญ
ช่วงที่เราเป็นครูแรกๆ มันอาจจะแตกต่างจากการใช้ชีวิตนักศึกษา มันก็ทำให้เรา… ใช่รึเปล่า ตอนที่เรียนไม่เห็นเป็นอย่างนี้ มาทำงานทำไมมันแตกต่างกันจังเลย ถ้าทำอย่างอื่นก็จะเป็นการขายออนไลน์ หรือว่าทำงานอดิเรกให้เราค้นหาตัวเอง แต่ว่าทำอย่างอื่นแล้ว ค้นหาตัวเองอย่างอื่นแล้ว สิ่งที่ชอบก็คือการเป็นครูนี่แหละค่ะ เป็นงานหลักที่ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ท้อค่ะ”
หลังจากบรรจุเป็นข้าราชการครู ณ โรงเรียนบ้านคำกลางคำสมบูรณ์ จ.อำนาจเจริญหน้าที่ความรับผิดชอบแรกคือการดูแลนักเรียนระดับชั้น ป.6 จำนวน 13 คน ต้องสอนทุก 8 วิชา วันละ 6 ชั่วโมง
“เอกที่เรียนคือเอกประถมศึกษาโดยตรง บรรจุที่โรงเรียนบ้านคำกลางคำสมบูรณ์ประมาณ 3 ปีกว่าค่ะ นักเรียนมี 123 คน ถือว่าเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ถ้านักเรียน 120 คน ก็จะเป็นขนาดเล็ก คุณครูมี 11 คน ครู 1 คนต้องสอนเด็กทุกวิชา 8 วิชา ครู 1 คน 1 คนต่อ 1 ชั้น ครูนิดสอนชั้น ป.6 ห้องครูมี 13 คนค่ะ
ตอนฝึกสอนที่โรงเรียนอื่นที่เป็นโรงใหญ่ๆ ในตัวเมืองอุบลราชธานีมาก่อน ก็แตกต่าง อยู่โรงเรียนใหญ่มีคุณครูหลายคน ครบชั้น ครบทุกวิชา มีแม่บ้าน มีครูพี่เลี้ยง แต่พอมาอยู่โรงเรียนเล็ก กลับกลายเป็นว่าหน้าที่ต่างๆ ที่ 8-9 คนทำในโรงเรียนใหญ่ ครูทำคนเดียวแต่เด็กๆ ก็แข็งแรงดี เขาสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ดีเช่นกัน
ตอนเข้ามาแรกๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อม โรงเรียนเขาพร้อมอยู่แล้ว ตัวเองไม่พร้อมเพราะว่าหลายวิชาเกินไป เริ่มจากเตรียมการสอนไม่ทันแล้ว เริ่มจากหาอะไรสนุกมาให้เรียนไม่ทันแล้ว เริ่มจากเขาเจอเราทุกชั่วโมง เราจะต้องแอคทีฟ ต้องทำการบ้านเยอะเหมือนกัน ต้องหาเกมมาให้เล่นเกือบทุกวิชาที่เขาเรียนกับเรา
เราต้องแอคทีฟคูณ 6 เลย เพราะเด็กเจอเราทั้งวัน เขาก็อาจจะเบื่อบ้าง เขาอาจจะไม่ชอบที่เราสอนวิชานี้ อีกอย่าง ครูคนนึงก็เหมือนนักเรียนนี่แหละค่ะ ไม่ใช่ว่าเราจะเก่งไปทุกวิชา อย่างเช่น ครูนิดอาจจะชอบวิทย์-คณิต แล้วก็ไม่ชอบสังคม ทำให้เราคิดหนักในเรื่องนี้ว่าต้องสอนทุกวิชาค่ะ”
เมื่อถามถึงการเรียนการสอนที่ต้องสอนมากกว่าวิชาที่ตนเองถนัด ครูนิดเล่าว่า ต้องหาความรู้เพิ่มเติม เตรียมตัว และเตรียมตัวล่วงหน้า 1 หน่วยการเรียนรู้กันเลยทีเดียว
“ตอนที่เรียนเอกประถมศึกษา ที่คณะเขาก็จะแยกเป็นแผนกวิทย์-คณิต แผนกศิลป์-ภาษา แต่สิ่งที่ชอบคือวิทย์-คณิต เพราะตอนมัธยมก็ชอบวิทย์-คณิตอยู่แล้ว แต่ว่าพอลงมาโรงเรียนจริงๆ บุคลากรไม่เพียงพอ มีความจำเป็นที่จะต้องสอนทุกวิชา คุณครูรุ่นพี่ที่โรงเรียนเอกนาฏศิลป์ แม้จะไม่ใช่เอกประถมศึกษา ก็ต้องสอนวิชาอื่นเช่นกันเพราะครูไม่ครบชั้น
ในเรื่องของวิทย์-คณิต เราถนัด เรามีวิธีคิดลัด เรามีกระบวนการของเราอยู่แล้ว ในเรื่องภาษาอังกฤษ ครูนิดเองเป็นคนที่ไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษเท่าไหร่ แต่ตอนก่อนที่จะมาบรรจุ เขาให้สอบ TOEIC TOEFL ครูนิดก็เลยไปติว ไปอบรมเพื่อที่จะให้ตัวเองสอบผ่าน ก็เลยเป็นวิชาติดตัวมาที่จะให้มาสอนนักเรียนเช่นกัน
ส่วนวิชาอื่นๆ สังคม ประวัติศาสตร์ ตัวเองไม่ถนัดจริงๆ ครูนิดก็จะเข้าไปดูใน DLTV เขาจะมีการสอน ที่โรงเรียนก็จะมีการสอนแบบ DLTV เช่นกัน เขาก็จะมีให้เด็กดูว่า ประวัติศาสตร์ครูเขาสอนประมาณไหน เพราะว่า ป.6 แล้วเขาจะเป็นเด็กโต เขาจะไม่ค่อยชอบดู DLTV ที่เป็นครูที่ไม่ได้โต้ตอบ ก็ไปดูมาก่อน ไปทำการบ้านมาก่อน ออกแบบใบงานก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 หน่วยการเรียนรู้เลยก็ว่าได้ ก็มาสอนเขาอีกรอบนึง”
ความเหลื่อมล้ำที่ “ครูชนบท” ต้องเจอ
จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การมาบรรจุในโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูแต่ละคนต้องรับผิดชอบหน้าที่อื่นๆ ที่มากกว่าการสอนหนังสือ แม้แต่ครูนิดเองก็เช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ครูในชนบทต้องพบเจอ
“การสอนโรงเรียนเล็ก แน่นอนอยู่แล้วว่าเราขาดบุคลากรครบทุกวิชา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอาจจะเป็นคุณครูไม่พอ หรือเป็นความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี อาจจะมีงบประมาณที่น้อยกว่า ไม่สามารถที่จะจัดสรรมาให้ครบทุกห้องได้ ห้องคอมพิวเตอร์มีห้องเดียวแล้วเด็กต้องวนไปเรียน
นอกจากจะสอน 6 ชั่วโมงต่อวัน ต้องรับผิดชอบเด็กห้องเรา 13 ชีวิต ตลอดทั้งวันที่เขามา แล้วก็จะเป็นครูเวรประจำวัน ครูวิชาการ พี่ๆ น้องๆ อาจจะเรียกว่าครูโซเชียลฯ แต่ก่อนโรงเรียนจะไม่มีเพจของโรงเรียน คนภายนอกอาจจะไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้ทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง ครูนิดก็จะตั้งเพจขึ้น คนที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะเห็นว่าลูกมีพัฒนาการยังไง
รวมถึงเว็บโรงเรียน ก็จะเอาข่าวมาลง ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวการจัดซื้อจัดจ้าง จะแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ ที่อาจจะไม่ถนัดในด้านนี้ ก็จะทำให้คนมารู้จักโรงเรียนมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ครูท่านอื่นก็มีหน้าที่ อย่างเช่น ครูนิดเป็นครูวิชาการ ครูห้องอื่นอาจจะเป็นครูพัสดุ ครูการเงิน ครูวิชาการ ครูบุคลากร แยกกันทำ ครู 1 คนอาจจะรับผิดชอบหลายสาขา ทั้งวิชาการ เวรประจำวัน 1 คนหลายหน้าที่เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ครูนิดรับผิดชอบค่ะ แต่ว่าโรงเรียนเล็กก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ไม่แพ้โรงเรียนใหญ่”
สำหรับสิ่งที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนขนาดเล็กหากเป็นไปได้ ครูสาวผู้นี้เสนออยากให้มีเจ้าหน้าที่ที่ด้านการเงินโดยเฉพาะ เข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพื่อที่คุณครูจะได้ดูแลการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่
“ถ้ามองว่าความลำบาก แน่นอนเพราะรับผิดชอบหลายหน้าที่ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงคงจะเปลี่ยนแปลงยากมาก เพราะว่าจำนวนเด็กน้อย ถ้าให้ครูมาครบเหมือนโรงเรียนใหญ่อาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดอยู่ว่า เด็กกี่คนต่อครูกี่คน มีโรงเรียนที่ครูน้อยกว่าโรงเรียนของครูนิดก็มี 1 คนรับผิดชอบทุกงานก็มีเช่นเดียวกัน
ถ้าจะหนักมากจริงๆ เป็นครูการเงินกับครูพัสดุ อาจจะไม่ได้อยู่โรงเรียนเลยในบางวัน ต้องออกไปเบิกเงิน ออกไปทำเรื่องพัสดุ จะทิ้งเด็กในช่วงนั้น ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่เขาก็จะมีครูห้องอื่นเข้ามาเสริม แต่ถ้าเป็นครูโรงเรียนเล็ก คุณครู ป.5 ออกไป เป็นครูการเงิน ครู ป.6 ก็ดูทั้ง ป.6 และ ป.5 ทำให้เด็กไม่ได้รับความรู้เต็มที่ ไม่ได้รับการดูแลเต็มที่
การเรียนวิชาชีพครูมา ไม่ได้เกี่ยวกับการเงินและไม่ได้เกี่ยวกับพัสดุ เป็นเรื่องที่ครูหนักใจเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ อาจจะมีเจ้าหน้าที่มาจากสาขาอื่นที่เป็นการเงิน พัสดุเข้ามาดูแลตรงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีครูมาเสริมหลายๆ คน ถ้ามีครูการเงิน ครูพัสดุ อาจจะช่วยครูได้ จะได้ดูแลเด็กได้เต็มที่ ถ้าลดภาระตรงนี้ไปเราก็จะทำงานการสอนได้เต็มที่
เพราะว่าคุณครูทำก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกันเพราะไม่มีความชำนาญในด้านนี้ ไม่มีความชำนาญปุ๊บ พอทำเกี่ยวกับการเงิน เกี่ยวกับพัสดุ อาจจะเห็นข่าว คุณครูโดนไล่ออกเกี่ยวกับการเงินพัสดุก็มีมาเหมือนกัน ไม่ได้ทำงานเต็มที่ด้วยและมีความเสี่ยงด้วยค่ะ”
นอกจากนี้ เธอยังสะท้อนถึงเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการ ที่ครูชนบทต้องประสบพบเจออีกด้วย
“ถ้าเปรียบเทียบเงินเดือนครูกับอาชีพอื่น จะเห็นชัดเจนว่าครูเป็นอาชีพที่ได้เงินเดือนค่อนข้างน้อย โบนัสสิ้นปีไม่มี OT ไม่มี ความดีความชอบครึ่งปีไม่มี ของครูจะเป็นเปอร์เซ็นต์ 6 เดือนพิจารณา 1 ครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น้อย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีครูไม่ใช่ คศ.3 (ครูชำนาญการพิเศษ) โรงเรียนที่ครูฐานเงินเดือนน้อย เอามาหาร โรงเรียนนั้นก็จะเงินน้อย
ถามว่าเพียงพอมั้ย เพียงพอในแต่ละเดือน แต่ไม่ได้เอาไปลงทุนพัฒนาส่วนอื่นค่ะ ตอนนี้ทำงานมา 3 ปีแล้ว แต่เงินเดือนก็ยังไม่ถึง 20,000 ก็จะมีขายของออนไลน์ที่มาเสริมเรา แต่ว่ามีสิ่งที่โชคดี ก็คือ ภูมิลำเนาอาจจะไม่ได้ทีค่าเดินทางเยอะแยะเท่ากับครูท่านอื่นที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ต่างจังหวัด บ้านครูนิดเองห่างจากโรงเรียนไป 43 กม. เดินทางประมาณ 40 นาที
จริงๆ แล้วโรงเรียนมีบ้านพักอยู่ในโรงเรียนเลย โรงเรียนส่วนมากก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ แล้วก็ไม่ปลอดภัยเพราะอาคารเริ่มทรุดโทรม ถ้าเกิดไม่มีใครอยู่ด้วยก็อันตรายเหมือนกัน ถ้าเด็กกลับบ้านไปหมด นักการภารโรงกลับบ้านไปหมด ก็มีครูคนเดียว ส่วนมากจะเป็นครูผู้หญิง เงียบเหงา น่ากลัว แล้วก็ไม่ปลอดภัยด้วย
ถ้าสามารถเป็นไปได้จริงๆ ก็อยากจะให้เพิ่มเงินเดือนให้ครูหลายๆ ท่าน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นครูบรรจุใหม่ ครูหลายๆ ท่านก็พบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมถึงแผนการใช้เงินก็อาจจะมีการอบรมครูด้วย ไม่ใช่แค่ปรับเงินเดือนอย่างเดียว
และถ้าเกิดมีบ้านพักใกล้ๆ ก็อาจจะอยู่บ้านก็จะดี เป็นสวัสดิการที่อยากให้ผู้ใหญ่ปรับปรุงในส่วนนี้ให้ครู อาจจะเป็นบ้านพักที่รวมกันในเมือง ถ้าเราเดินทางระยะเวลาน้อยลง เราอาจจะมีเวลามาตรวจวัดอุณหภูมิเด็ก ก็จะคัดกรองได้ดีขึ้นด้วย”
เรียนยุคโควิด ต้องดึงดูด-ทันสมัย
ในส่วนของการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทางโรงเรียนบ้านคำกลางคำสมบูรณ์ สามารถเปิดการสอนที่โรงเรียนได้ตามปกติ แต่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านต้องมีการปรับรูปแบบเป็น ON-HAND หรือการเรียนรู้ที่บ้านโดยครูจัดทำเอกสารให้กับนักเรียนแทน
“การเรียนการสอนเกือบๆ 1 เดือนแล้วที่เจอสถานการณ์โควิด รวมทั้งมีผู้ที่ติดโควิดในหมู่บ้าน ก็เลยต้องปิดยาวหน่อย ทางโรงเรียนมีการเรียนการสอนรูปแบบ ON-HAND ครูอาจจะอธิบายที่โรงเรียนก่อนแล้วให้เด็กนำใบงานไปทำที่บ้าน
สาเหตุที่เราไม่ได้ออนไลน์ คือ เราเด็กประถม ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ บางคนมีอุปกรณ์ไม่มีอินเตอร์เน็ต บางคนใช้อินเตอร์เน็ตกับพ่อแม่ พ่อแม่ต้องไปทำงาน หรือบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณ ก็เลยเป็นการเรียนการสอนแบบ ON-HAND ทั้งโรงเรียนเลยค่ะ
ก่อนหน้านี้ ก็คือ เรียนที่โรงเรียน ถ้าเกิดว่าไม่มีการติดโควิด ไม่มีประกาศจากผู้ว่าฯ เราก็เรียน On Site มาเรียนที่โรงเรียนค่ะ ครูนิดเคยทดลอง Online แล้วค่ะ เด็ก 13 คน มาเรียนแค่ 3 คน คนอื่นเขาก็จะไม่ทันด้วย แล้ว 3 คนที่เรียนอยู่ก็ไม่ได้รับความรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยคิดว่าการเรียน ON-HAND ประสบผลสำเร็จมากกว่า
หน้าที่รับผิดชอบนอกจากการเรียนการสอนที่เป็น ON-HAND ก็จะ 1. สำรวจนักเรียนที่มีความต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2.ผู้ปกครองต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นหน้าที่เสริมเข้ามา และ 3.มีหน้าที่รายงานเขตทุกๆ สัปดาห์ว่าเราเรียนอะไร เด็กนักเรียนมีการติดโควิดมั้ย รักษาหายรึยัง มีคนติดสะสมตอนนี้
เด็กไม่ได้มาโรงเรียนไม่ได้หมายความว่าครูจะทำงานที่บ้าน ได้มาทำงานที่โรงเรียนเช่นเดียวกันกับครูท่านอื่น บางทีการทำงานก็อาจจะมีการ Work from Home บ้าง จะต้องพบปะผู้คน จะต้องทำงานแชร์กัน ก็ต้องเข้ามาทำงานในโรงเรียนค่ะ”
ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกันลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ลดลงไปด้วยโดยปริยาย
“ปัญหาที่เจอ คือ ไม่ได้ทบทวนทุกวิชาเท่าที่ควร สมมติเราให้ใบงาน ON-HAND เขาไป เขาอาจจะทำแค่วันละ 1-2 ชั่วโมง เวลาที่เหลือก็ไม่ได้ทบทวนเหมือนในห้องเรียน มันอาจจะขาดหายไปในส่วนของการเรียน
แน่นอนอยู่แล้วว่าการเรียนที่บ้านกับการเรียนที่โรงเรียนแตกต่างกัน ถ้าเราเรียนออนไลน์ก็อาจจะเจอครูตลอด แต่เป็นไปไม่ได้ว่าเด็กคนนึงจะนั่งหน้าจอได้ 6 ชั่วโมง
และไม่สามารถที่จะนำเสนองานได้คล่องแคล่วเหมือนที่เราสอนหน้าห้อง อย่างเช่น วิชาภาษาอังกฤษ ต้องมีการฝึกออกเสียง เขาก็จะแค่เขียนได้ ไม่ได้คุยกับคนอื่น ที่บ้านไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ อันนี้เป็นห้องของครูนิดที่ครูนิดสังเกต
การที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เล่นกับเพื่อนจะขาดหายไป เจอหน้ากันแต่ก่อนก็อาจจะเป็น มาเล่นด้วยกัน ทุกวันนี้เจอหน้ากัน ถามว่าได้ใบงานรึยัง ก็กลับบ้าน รู้สึกว่ามันไม่สนุกสนานเหมือนมาเรียนในห้องเรียนค่ะ
ในส่วนของความคุ้นเคยกับครู สนิทกับครู ความรัก ความเคารพที่เราเรียนที่โรงเรียนอาจจะขาดหายไป เด็กๆ ก็ทักมาหาทุกวัน ‘ครู เมื่อไหร่จะเปิดเทอม หนูอยากไปเรียนที่โรงเรียน’ ฟีดแบกของเขาคืออยากมาที่โรงเรียน 100 เปอร์เซ็นต์”
แม้ระหว่างการทำงานจะมีช่วงเวลาที่เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ทุกครั้งครูนิดก็ได้กำลังใจจากลูกศิษย์ตัวน้อย ให้คอยก้าวผ่านทุกอุปสรรคมาจนผ่านพ้นมาได้
เหตุการณ์ที่บั่นทอนจิตใจ ก็อาจจะเป็นงานที่รับผิดชอบที่เราไม่สามารถที่จะรับผิดชอบตรงนั้นได้ เราไม่มีความถนัดในส่วนนั้นเลย ทำไมเราได้ทำบ่อยๆ ก็จะท้อมากช่วงนั้น ก็จะเป็นนักเรียนนี่แหละที่คอยให้กำลังใจ บางทีเราทำงานเครียดๆ อยู่ นั่งหน้าจอคอมพ์ก็คุยกับนักเรียน ‘ครูจะส่งผลงานแบบนี้นะ เด็กๆ คิดว่าครูจะทำผ่านมั้ย’ เขาก็บอก ‘ครูทำผ่านแน่นอนเลย ครูเก่งมาก ครูเก่งสำหรับเขา’ เขาก็อาจจะพูดเล่นๆ ปนให้กำลังใจจริงๆ ก็จะทำให้เราต้องสู้ต่อไป เลยมีความสุขขึ้นมา
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากนักเรียนเป็นสิ่งที่แปลกใหม่เสมอ เด็กๆ ทุกวันนี้เขาเก่งและมีพัฒนาการที่ดีทุกคน สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการพัฒนาการสอนของตัวเราเอง ปกติแล้วถ้าไปฝึกสอนเราก็สอนเลย รูปแบบการสอนนี้อาจจะเหมาะกับปีการศึกษานี้ แต่รูปแบบการสอนนี้อาจจะเหมาะกับเด็กคนนี้ ก็จะทำให้เราเรียนรู้การสอนของเราต้องปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย
หรือว่าเด็กบางคนเป็นเด็กเก็บตัว แต่พอโพสต์หาเราในโซเชียลฯ หรือพิมพ์ตอบกลับครู ก็สามารถที่จะอธิบายได้มากขึ้น พอได้เรียนรู้จากนักเรียนเหล่านี้แล้ว มีวิธีการหลากหลายแล้ว เราสามารถที่จะนำสิ่งที่เราเรียนรู้มาเป็นรูปแบบการสอน มาเป็นบทเรียนสำเร็จรูป นำมาทำเป็นวิจัยให้คุณครูท่านอื่น ได้สามารถเรียนรู้กับเราไปด้วย”
แม้จะมีอุปสรรคเข้ามาทำให้เสียกำลังใจบ้าง แต่ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ได้เป็นครู ณ โรงเรียนแห่งนี้ ก็มีเรื่องราวความประทับใจมากมาย กลายเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ทำให้ครูนิดไม่เคยท้อในการทำหน้าที่ “แม่พิมพ์ของชาติ” แม้แต่น้อย
“สิ่งที่ประทับใจที่สุด ทำไมถึงไม่คิดที่จะท้อแท้ที่จะเป็นครู สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือเด็กๆ สมมติว่าเขาทำผิดในส่วนของเขา แล้วคนอื่นว่าให้ครูว่า ทำไมครูไม่ดูแลเด็กเลย คาบเรียนนี้ครูนิดต้องเป็นคนสอนแล้วเด็กออกมา
เขาก็จะปกป้องเราว่าจริงๆ แล้วครูไม่ได้ให้ออกมา ผมทำผิดเอง เขาจะรับผิดชอบในตัวของเขา ทุกรุ่นไม่ใช่แค่รุ่นที่กำลังสอน รุ่นก่อนหน้านี้ก็จะเป็น รักคุณครูและเลือกที่จะปกป้องทั้งที่เขารู้ว่าครูไม่ได้มีส่วนผิด ก็เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจ
พูดถึงผู้ปกครอง ที่ประทับใจก็จะเป็นการที่ผู้ปกครองเอาใจใส่ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะอยู่ไกล ห้องเรียนครูนิดจะมีอยู่กรุงเทพฯ อยู่ชลบุรี ก็จะมีกรุ๊ปห้องเฟซบุ๊ก ถ่ายรูปกิจกรรมนั่งเรียนลงไป ด.ญ.เอ ไม่มีอุปกรณ์ ผู้ปกครองก็ดูแลเอาใจใส่
ถ้าเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมงาน ถึงแม้ว่าคนในโรงเรียนเราจะน้อย มี 11 คนเอง แต่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ตลอดเวลา คุณครูรุ่นพี่เคยทำงานนี้มาแล้ว ของานได้มั้ย คุณครูรุ่นพี่อธิบายให้เรา เป็นตัวอย่างให้เสมอ ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าโรงเรียนใหญ่ๆ เลย”
สุดท้ายนี้ ครูคนเก่งแห่งโรงเรียนบ้านคำกลางคำสมบูรณ์ ก็ได้ฝากถึงอาชีพครู ที่มอบทั้งโอกาสและความทรงจำดีๆ ให้เธอมากมาย พร้อมกันนี้ยังฝากกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมวิชาชีพครู ให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ ไปให้ได้
“วิชาชีพนี้ให้อะไรกับเรา อาจจะเป็นการที่เราไม่ใช่ครูอย่างเดียว เราเป็นครูสำหรับนักเรียนตลอดเวลา เขากลับบ้านไปแล้ว บางคนอกหัก วัยรุ่น เขาก็จะมาปรึกษาเพราะบางอย่างไม่สามารถที่จะปรึกษาพ่อแม่ได้ ก็จะมาปรึกษาคุณครู อันนี้คือได้มากกว่าวิชาชีพครูเลย เป็นผู้ปกครองของเขา
หรือบางสิ่งบางอย่างอาจจะเป็นต้นแบบของคุณครูหลายๆ ท่าน หรือคุณครูหลายๆ ท่านมาเป็นต้นแบบของเรา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ มันได้มากกว่าวิชาชีพครูที่ได้เรียนมาจริงๆ
สำหรับวิชาชีพครู ตอนนี้ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง คุณครูในช่วงนี้เป็นครูที่แข็งแกร่งมาก สามารถที่จะอดทนอดกลั้นหรือสามารถที่จะดูแลนักเรียนในช่วงโควิด ก็ฝากกำลังใจไปให้คุณครูหลายๆ ท่าน หลายๆ โรงเรียนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Nid Kamonchanok”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **