ภูมิภาค
โปรลมหนาวสุดท้าย หนูน้อยวิ่งว่าวธนู กีฬาท้องทุ่งนา ที่ จ.อำนาจเจริญ
วันอาทิตย์ ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564, 11.44 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
ยามนี้ กระแสลมหนาวพัดเข้าสู่จังหวัดอำนาจเจริญอีกระลอก จึงเหมาะสำหรับ การนำว่าวธนู ออกไปปล่อยวิ่งเล่น ตามท้องทุ่นนาไร้ต้นข้าว ที่โล่งกว้าง กลายเป็นสนามกีฬาท้าลมหนาวใกล้บ้าน สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน แก่ เด็กนักเรียน ในหมู่บ้าน ตำบล ห่างไกล ยิ่งนัก แถมยังเป็นการออกกำลังกาย ปลอดภัย โควิด 19 อีกต่างหาก
การเล่นวิ่งว่าวธนู เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ที่พบเห็น เด็กนักเรียน นำมาวิ่งเล่นกันเป็นประจำทุกปี ในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีกระแสลมพัดตลอดเวลา ทำให้ว่าว ติดลม ได้ง่าย บางคน ปล่อยว่าว ให้ลอย อยู่บนอากาศ จนถึงเช้าก็มี
สำหรับ ว่าวที่นิยม วิ่งเล่นกันมาก ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ เรียกว่า ว่าวธนู ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับ ว่าวจุฬา ทว่า ว่าวธนู ของ จ.อำนาจเจริญ แปลกกว่า ที่อื่น ก็คือ ที่ปลายหัวว่าว จะมีธนู ติดตั้งอยู่ ทั้งนี้ ธนู จะมีรูปร่างคล้ายธนูยิงศรทั่วไป แต่ธนูว่าว บริเวณสายจะทำจากใบลาน เชือกผูกยึดสองข้างที่ปลายธนู เมื่อว่าวปล่อยติดลม ใบลานกระทบกับกระแสลม จะเกิดเสียงดัง เป็นเสียงเพลง อย่างไพเราะ เสนาะหูมาก เมื่อถึงฤดูหนาว กระแสลมพัดทั่วท้องทุ่งนา ชาวอีสาน จึงนิยม ทำว่าวธนู ออกไปปล่อยติดลม ผูกยึดไว้กับต้นไม้ หรือ เสาเถียงนา(กระท่อมนา) เพื่อให้เกิดเสียงเพลงดังทั่วท้องฟ้า ขับกล่อม บรรเลงบทเพลงให้ ชาวนานอนฟัง อย่างเพลิดเพลิน หลับสบายในช่วงนอนนา เฝ้าข้าว ที่เกี่ยวเสร็จ เพื่อ รอส่งขาย หรือ ใส่ยุ้งข้าว ซึ่งเสียงว่าวธนู ก็จะขับกล่อม ตลอดทั้งคืน เรียกว่า เป็นเพื่อนนอนนา จนรุ่งเช้า ก็จะเอาว่าวลงมาเก็บ และรอปล่อย ในตอนเย็นของวันถัดไป
เด็กชาย คมสันต์ พรมสร้อย อายุ 12 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป. 6 มีบ้านพักอยู่ หมู่บ้านเมืองเก่า ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ระหว่างวิ่งเล่นปล่อยว่าวธนูกับเพื่อนๆอย่างสนุกสนาน บอกว่า โรงเรียนปิดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 ถึง วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564 ไปโรงเรียนวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2564 หลังเลิกเรียนออนไลน์เสร็จ จึงชวนเพื่อนๆ นำว่าวธนูออกไปปล่อยวิ่งเล่นกันที่ท้องทุ่งนา เพื่อให้สมองโล่ง สบายอารมณ์ ส่วนว่าวธนูทำขึ้นมาเองกับมือ เพราะ ก่อนนั้น บิดา เป็นคนสอนทำและพาเล่นว่าว
ส่วนวิธีทำว่าวธนู ไม่ได้ยุ่งยากอะไร โดยเริ่มแรก ก็จะนำไม้ไผ่มาเหลา ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วประกอบเป็นโครงว่าว ต่อมา ใช้กระดาษปูนซีเมนต์ที่ใช้แล้ว( สาเหตุที่ใช้ เพราะ ทนทาน ) มาติดกาวแล้วแปะตามโครงว่าว เสร็จแล้ว นำธนูมาติดตั้งที่ปลายหัวว่าว และมีใบลาน ผูกยึดกับด้ามธนูสองข้าง เมื่อปล่อยว่าวสู่อากาศ ติดลม ใบลานกระทบกับกระแสลม ก็จะเกิดเสียงดังลงมาจากท้องฟ้า เป็นเสียงเพลงไพเราะ ก็เป็นอันแล้วเสร็จ นำว่าวไปใส่หาง และที่ผูกเชือกว่าวด้วย ที่สำคัญ ก่อนจะนำธนู ติดตั้งส่วนบนของว่าว หรือ หัวว่าว จะต้อง ทำการทดสอบเสียงธนูก่อน ว่า จะมีเสียงดังไพเราะมากน้อยแค่ไหน ด้วยการแกร่งธนูไปรอบๆตัว เพื่อฟังเสียง เรียกว่า ทดสอบเสียง เมื่อทดสอบเสียงดังไพเพราะ ตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำธนูไปติดตั้งที่หัวว่าวบนสุด
ด้าน นายสายัน แซมลำ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเมืองเก่า ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ช่วงนี้ โรงเรียนในหมู่บ้านคำแก้ว ปิดการเรียนการสอนหลายวัน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค โควิด 19 ทำให้เด็กนักเรียนมีเวลาว่าง ก็เลยชักชวนกันเป็นกลุ่ม ไปวิ่งว่าวธนูที่ทุ่งนาใกล้หมู่บ้าน โดยเฉพาะมีกระแสลมหนาวพัดเข้ามาอีกรอบ จึงทำให้การปล่อยว่าวธนูติดลมง่ายขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเด็กๆในหมู่บ้าน นำว่าวธนูมาวิ่งเล่น เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน ความรักความสามัคคีในชุมชน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์ นับว่า เป็นสิ่งที่ดี สมควรให้การส่งเสริม สนับสนุน และที่ผ่านมา งานประจำปีของหมู่บ้านเมืองเก่า ก็จัดให้มีการแข่งขันกีฬาว่าวธนู เพื่อให้เด็กมีที่แสดงออก มีความสามัคคีในชุมชน และเพื่ออนุรักษ์ว่าวธนู จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้สูญหายอีกด้วย
ที่ผ่านมา ผู้นำหมู่บ้าน ได้มีการประกาศเสียงตามสาย หอกระจายข่าว ในหมู่บ้านทุกวัน เรื่อง ให้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดูแล ตักเตือน ลูกหลาน ในการเล่นว่าว ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง หากสายว่าวไปพันพาดเกี่ยวสายไฟฟ้า อาจถูกไฟฟ้าช็อตเป็นอันตรายถึงชีวิตและส่งผลให้ไฟฟ้าดับได้ ซึ่งที่ผ่านมา เด็กๆ ที่วิ่งว่าวธนู เชื่อฟังทำตามทุกคนและไม่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด…
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่