วันอังคาร ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 15.05 น.
ดินแดนภาคอีสานตอนใต้ อันประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นอกจากจะเป็นศูนย์รวมแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน อย่างเช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ยังเป็นเป็นอู่อารยธรรมหลายยุค หลายสมัยอีกด้วย และที่ ดินแดนอีสานใต้แห่งนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะหลักธรรมในสายวิปัสสนาธุระ ซึ่งดินแดนแถบนี้คือ ถิ่นกำเนิดและแหล่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรของพระเถระสายวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงมากมายหลายองค์ ดังนี้
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล (วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี) ถือกำเนิดที่บ้านข่าโคม ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร) ถือกำเนิดที่บ้านคำบง ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี หลวงปู่ชา สุภัทโท (วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี) ถือกำเนิดที่บ้านจิกก่อ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี) ถือกำเนิดที่ ต.หนองแก้ว จ.อำนาจเจริญ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล (วัดบูรพา จ.สุรินทร์) เคยศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุทัศน์ จ.อุบลราชธานี ต่อมาได้พบหลวงปู่มั่น จึงได้เริ่มฝึกปฏิบัติวิปปัสสนากัมมัฏฐาน หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย) ในช่วงเป็นสามเณร เคยศึกษาธรรมที่วัดสุทัศน์และวัดศรีทอง จ.อุบลราชธานี และได้อุปสมบท ณ วัดสุทัศน์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย (วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา) ในช่วงเป็นสามเณร ได้เริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งแรกที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี โดยเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
ปัจจุบัน ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสายวิปัสสนาธุระ ยังคงดำเนินสืบทอดอยู่ในดินแดนอีสานใต้แห่งนี้อย่างเหนียวแน่น ดังปรากฎอยู่ในวัดป่าที่สงบร่มเย็นด้วยกลิ่นอายของธรรมชาติ และอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งธรรมจำนวนมากมายในถิ่นแถบนี้ การที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสธรรมชาติและบรรยากาศแห่งธรรม ณ วัดป่าต่างๆ ในดินแดนอีสานใต้ จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างสุขให้ตัวเองและเป็นกำไรแห่งชีวิตยิ่งนัก และวัดป่า แห่งธรรม 7 วัด ที่จะเขียนถึงและขอแนะนำนักท่องเที่ยว ดังนี้
วัดหนองป่าพง วัดหนองป่าพงเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ อันสงบอันสงัด มีบรรยากาศร่มเย็นเหมาะ แก่การพำนักอาศัยเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 2178 (อุบล-กันทรลักษ์) ประมาณ 8 กม. เป็นวัดที่ก่อตั้งโดยหลวงปู่ชา สุภัทโท และเป็นต้นแบบของวัดป่าสายหลวงปู่ชา อีกกว่า 100 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร และหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ชา และยังมีเจดีย์ศรีโพธิญาณ ซึ่งเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ชา มีพื้นที่ป่าภายในเขตกำแพงวัด 186 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา
จุดเริ่มต้นของวัดหนองป่าพง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 (ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง) พระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท) ท่านได้เดินธุดงค์มาถึง “ดงป่าพง”ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๓ กิโลเมตร พร้อมด้วยลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึง ก็ได้ทำการปักกลดเรียงรายอยู่ตามชายป่าประมาณ 5-6 แห่ง ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าทึบรกร้าง ชุกชุมด้วยไข้ป่า ในอดีตป่าพงเป็นดงใหญ่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านเรียกดงดิบนี้ว่า “หนองป่าพง” เพราะใจกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นอยู่หนาแน่น ต่อมาบริเวณผืนป่าส่วนใหญ่ถูกทำลายหมดไป ยังคงเหลือเพียงส่วนที่เป็นบริเวณของวัดในปัจจุบันเท่านั้น สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ไม่ถูกบุกรุกถากถาง เพราะชาวบ้านเชื่อถือกันว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่เข้าไปทำไร่ตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกมามักมีอันต้องล้มตายไปทุกราย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำลาย หรืออาศัยทำกินในป่านี้เลยดงป่าพงจึงดำรงความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ ชื่อ “วัดหนองป่าพง” นี้ เป็นชื่อที่หลวงพ่อคิดตั้งขึ้นเอง โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “ วัดป่าพง” โดยระยะแรกๆ หลวงปู่ชา สุภทฺโท และลูกศิษย์ต้องต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับไข้ป่า ซึ่งขณะนั้นชุกชุมมาก เพราะเป็นป่าทึบ ยามพระเณรป่วย หายารักษายาก ต้องต้มบอระเพ็ดฉันพอประทังไปตามมีตามเกิด โดยที่ท่านไม่ยอมขอความช่วยเหลือเลย เพราะว่า ท่านต้องการให้ผู้ที่มาพบเห็นด้วยตา แล้วเกิดความเลื่อมใสเอง หลวงพ่อสอนอยู่เสมอว่า พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งน่าเกลียด แต่ให้พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง
วัดหนองป่าพง จากวัดเล็กๆที่มีบรรณศาลา (กระท่อม) ไม่กี่หลัง จึงได้มีสิ่งก่อสร้างอันควรแก่สมณวิสัยเพิ่มเติม จนพอแก่ความต้องการในปัจจุบัน ทั้งที่พักอาศัยของภิกษุ ภิกษุณี สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่มาค้างแรมเพื่อปฏิบัติธรรม กระท่อมชั่วคราว ได้กลายมาเป็นกุฏิถาวรจำนวนมาก ศาลามุงหญ้า ซึ่งเคยใช้เป็นที่ฉันและแสดงธรรม ได้เปลี่ยนมาเป็นศาลาและโรงฉันอันถาวร กำแพงวัด หอระฆังเสนาเสนาะอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้นจากแรงศรัทธา ความเลื่อมใสนั้นเอง ชีวิตพระในวัดหนองป่าพง มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การประพฤติพรหมจรรย ์ตามรอยพระยุคลบาท ของพระบรมศาสดา ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบเงียบ และเรียบง่ายภายในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป การดำเนินชีวิตในวัดหนองป่าพง ยึดหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติฝึกหัดกายวาจาใจในชีวิตประจำวัน เน้นการศึกษาประพฤติ ปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำธุดงควัตร ๑๓ วัตร ๑๔ และกำหนดกฎกติการะเบียบต่างๆ มาผสมผสานเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการบำเพ็ญสมณธรรมให้ดำเนินไปด้วยดี และมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แนวทางการปฏิบัติและธรรมชาติอันสงบและบริสุทธิ์ของป่าภายในภายในวัดหนองป่าพง เป็นปัจจัยสำคัญ ส่งเสริมให้การดำรงชีวิตของพระภิกษุ เป็นไปด้วยความเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ และประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ ตามแบบของพระธุดงค์กรรมฐาน ผู้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อขัดเกลาทำลายกิเลสที่ครูบาอาจารย์ได้พาดำเนินมา จีวรและบริขารอื่นๆ ของภิกษุจะมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจัดรวบรวมไว้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนกลาง มีภิกษุผู้รักษาเรือนคลังสงฆ์เป็นผู้แจกในกาลเวลาที่เหมาะสม การบริโภคอาหารมีเพียงมื้อเดียวตอนเช้า และฉันในบาตร เสนาสนะที่พักอาศัยเป็นกุฏิหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างกันในราวป่าท่ามกลางความร่มรื่นแห่งหมู่ไม้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้อย่างสงบ และมีความรู้สึกสงบเย็น สดชื่น เบิกบาน มีอิสระ เป็นความสุขที่ปราศจากความเร่าร้อน กระวนกระวาย เกิดกายวิเวก ความสงบกาย และอุปธิวิเวก ความสงบกิเลส อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาต่อไป
วัดป่านานาชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 14 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 226 เป็น วัด สาขาอันดับที่ 19 ของวัดหนองป่าพง เดิมชื่อว่า วัดอเมริกาวาส และมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่านานาชาติภายหลัง โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า WAT PAH NANACHAT BUNG WAI FOREST MONASTERY ซึ่งเป็นวัดที่มีพระภิกษุชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น เป็นต้น มาจำพรรษาอยู่มิได้ขาด จุดกำเนิดของวัดป่านานาชาติแห่งนี้ ต้องย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นปีแรกที่ วัดหนองป่าพง ได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะชาวอเมริกัน ซึ่งอยู่ในสมณะเพศในพระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุรูปนั้นมีนามว่า “โรเบิร์ต ฉายา สุเมโธ” ซึ่งวัตถุประสงค์ของการมาครั้งนี้ คือ เพื่อมาถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา สุภัทโธ
ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2518 ท่านสุเมโธ และพระภิกษุรูปอื่นๆ ได้ดินทางไปพักอยู่ในเขตป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านบุ่งหวายจึงปลูกกระท่อมให้อยู่อาศัย เพื่อการปฏิบัติธรรมและเมื่อจวนจะเข้าพรรษา หลวงปู่ชา สุภัทโธ ได้อนุญาตให้พระชาวต่างประเทศไปจำพรรษารวมกันที่กระท่อมนั้น และได้มอบหมายให้ท่าน สุเมโธ เป็นประธานเพื่ออบรมพระสามเณรเหล่านั้น เพราะนานครั้งหลวงปู่ชา สุภัทโธ จะไปให้โอวาทสักครั้ง โดยวัตถุประสงค์ที่ให้พระชาวต่างประเทศไปอยู่รวมกันเพราะ เพื่อเป็นการเตรียมตัวไว้ ถึงคราวพระเหล่านี้กลับไปประเทศของตน จะได้สะดวกในการปกครอง ถ้ามีสิ่งใดบกพร่อง จะได้แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
ซึ่งการที่พระภิกษุสามเณรไปอยู่รวมกัน ก็ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีจากชาวบ้านบุ่งหวาย ห้วยขยุง ชาวตลาดวารินฯและชาวตลาดฝั่งอุบลฯ จนทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างเท่าที่จำเป็นมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้วัดป่านานาชาติได้มีพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติมาจำพรรษาจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมัฎฐาน พระภิกษุในวัดเกือบทุกรูปจะสามารถพูดภาษาไทย สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป
วัดป่าไทรงาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเดชอุดม ห่างจากสถานีขนส่งอำเภอเดชอุดม ประมาณ 1 กิโลเมตร เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2515 อาศัยเนื้อที่ป่าสาธารณะ (ป่าช้า) บ้านตลาด จำนวน 25 ไร่ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ แห้งแล้ง กันดาร วัดป่าไทรงาม เกิดขึ้นจากชาวเดชอุดม ศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา สุภัทฺโธ วัดหนองป่าพง ชาวอำเภอเดชอุดมจึงไปกราบนมัสการพระคุณเจ้า เพื่อมาชี้แนะแนวทางปฏิบัติ หลวงปู่ชา สุภัทฺโธ จึงให้ความเมตตาส่ง พระอธิการอเนก ยสทินฺโน ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวเดชอุดม เป็นหัวหน้าคณะมาจำวัดอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้ นับเป็นสาขาที่ 10 ของวัดหนองป่าพง และ วัดป่าไทรงามได้เป็นวัดสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2545 ปัจจุบันมีเนื้อที่ 130 ไร่ มีการขุดคลองกว้าง 8 เมตร ลึก 4 เมตร แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมาทำคูดินให้เป็นกำแพงวัด ปลูกต้นไม้แทนรั้ว เสียงรบกวนต่างๆ และเสียงประกาศจากชุมชนรบกวนได้ยากเพราะกำแพงดิน กำแพงต้นไม้ ช่วยลดปริมาณความดังของเสียงลง และได้ประโยชน์จากน้ำป็นการกักเก็บน้ำอย่างชาญฉลาด ให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ และยังเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำได้อย่างดี มีการปลูกบัวนานาชนิด นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุณหภูมิในฤดูร้อนได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปี 2544 รับพระราชทานรางวัลเข็มทองคำจากสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมงกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2545
วัดป่าไทรงาม ยึดถือแนวคำสอนเหมือนวัดหนองป่าพง โดยสอนมุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนเกิดปัญญา แก้ปัญหาด้วยตนเอง อาศัยความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง ท่านทั้งเทศน์ให้ฟังและปฏิบัติเป็นแบบอย่างพระภิกษุสามเณรมีความเพียรในการปฏิบัติธรรมและทำกิจวัตรประจำวัน โดยอาศัยสติเป็นตัวกำหนดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดสมาธิและก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ เนื่องจากวัดไม่มีเครื่องรางของขลัง ไม่แจกพระเครื่อง หลีกเลี่ยงที่จะรดน้ำมนต์ ไม่มีมหรสพในวัดไม่ว่ากรณีใดๆ การทำบุญไม่นิยมการเรี่ยไร ถ้าอยากทำขอให้ทำด้วยความศรัทธา
วัดป่าโพธิญาณ ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ไปตามทางหลวงหมายเลข 217 (อุบล-ด่านช่องเม็ก) ประมาณ 90 กม. โดยก่อนถึงด่านช่องเม็ก ประมาณ 2 กม. ด้านขวามือมีถนนเข้าสู่วัด ระยะทาง 3 กม. เป็นวัดป่าสาขาที่ 8 ของวัดหนองป่าพง
วัดดอนธาตุ ตั้งอยู่บนเกาะกลางลำน้ำมูล ที่บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวอำเภอไปตามทางหลวงหมายเลข 2222 (พิบูล-โขงเจียม) ประมาณ 6 กม. เป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยจำพรรษา ปัจจุบันยังมีเวชนียสถาน และอัฐบริขารของท่านที่หลงเหลืออยู่ เช่น กุฏิ แท่นหินนั่งสมาธิ
วัดภูหล่น ตั้งอยู่ที่ ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวอำเภอ 20 กม. และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 78 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2135 เป็นสถานที่ที่หลวงปู่มั่น เริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับ หลวงปู่เสาร์ ผู้เป็นอาจารย์
ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวท่านใด มีโอกาสไปเยือน ถิ่นอีสานใต้ ในช่วงหน้าฝนนี้ อย่าลืมแวะไปสัมผัสอู่อารยธรรมหลากยุค หลายสมัย และสัมผัสบรรยากาศแห่งธรรมที่สงบ ร่มรื่น ณ วัดป่าดังกล่าวข้างต้น แล้วท่านจะมีแต่ความเบิกบาน ความสงบสุข และสดชื่น เป็นสองเท่าทวีคูณ ซึ่งเป็นการสร้างสุขให้ตัวเองและเป็นกำไรแห่งชีวิตยิ่งนัก