ระส่ำอีกจังหวัด ศบค.จับตาติดเชื้อใน รพ.บ้านโป่งรายแรก โดนระนาว 30 คน กรมควบคุมโรคชงคัดแยกผู้ป่วยทางเดินหายใจไว้ต่างหาก ผวาต่อเนื่องคลัสเตอร์โรงงานขนาดใหญ่จ่อระบาดอื้อ จนท.ล้อมคอกระดมตรวจเชิงรุก ตร.ยะลากุมขมับเตรียมเซ่นพิษบ่อนกลางเมือง
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ในที่ประชุม ศบค.ได้หารือถึงคลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบเป็นหญิงอายุ 31 ปี เป็นญาติของผู้ป่วยที่เข้าไปเฝ้าแม่ในวอร์ดของผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงตั้งแต่วันที่ 23-28 เม.ย. ตรวจพบเชื้อในวันที่ 30 เม.ย. ทำให้ผู้ป่วยรายอื่น เจ้าหน้าที่ และญาติเจ้าหน้าที่ติดเชื้อรวมกันแล้ว 30 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรมควบคุมโรคเข้าไปวิเคราะห์สาเหตุพบว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีญาติมาเฝ้าผู้ป่วยทุกเตียง และญาติรับประทานอาหารร่วมกันที่ระเบียงหอพักผู้ป่วย การถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ จึงเสนอมาตรการปิดวอร์ดถึงวันที่ 24 พ.ค. และให้มีการทบทวนเรื่องการคัดแยกผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยทางเดินหายใจออกจากผู้ป่วยอื่น
ที่โรงพยาบาลทัพทัน จ.อุทัยธานี ได้ออกประกาศสั่งปิดห้องฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว และให้ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองฉางและโรงพยาบาลอุทัยธานีแทนในวันที่ 16 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 00.30 น. โดยจะเปิดบริการในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.64) เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสาเหตุที่ต้องสั่งปิดห้องฉุกเฉินดังกล่าว เพราะแรกรับผู้ป่วยซึ่งเป็นคนในพื้นที่ปกปิดข้อมูลหรือไทม์ไลน์ ให้ข้อมูลเพียงว่ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง และได้ทำการแอดมิตจนตรวจพบว่าติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยเปิดเผยว่าได้เดินทางไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงย่านบางแค กรุงเทพมหานคร จึงทำให้มีความจำเป็นต้องสั่งปิดจุดดังกล่าวของโรงพยาบาล และกักตัวเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มีความเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน
วันเดียวกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเนื้อหาว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ฉบับที่ 23 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป
โดยมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ ดังนี้ 1.ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 2.การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ 3.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน 4.แนวทางการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.การเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค 6.การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค 7.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) พิจารณาแล้ว ขอให้จังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.รับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวโดยเคร่งครัด 2.สร้างการรับรู้ข้อกำหนดแก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ และ 3.กรณีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้มีมติให้ออกประกาศ หรือคำสั่งให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน
ขณะที่การแพร่ระบาดทั่วประเทศยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหญ่ๆ และการติดเชื้อภายในครอบครัว เช่นที่ จ.นนทบุรี ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ จำนวน 108 ราย โดยส่วนใหญ่จะติดเชื้อภายในตลาดสด สถานที่ทำงาน และภายในครอบครัว
ที่ จ.สมุทรปราการ นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 117 ราย โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อในตลาดปากน้ำหลายราย ทำให้หน่วยราชการมีคำสั่งปิดตลาดปากน้ำเป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อและตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสโควิด -19
ที่ จ.เพชรบุรี มีความคืบหน้ากรณีตรวจพบพนักงานในโรงงานขนาดใหญ่ของ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ติดเชื้อโควิด-19 และมีการสอบสวนโรคผู้ใกล้ชิดซึ่งทำงานอยู่ในไลน์การผลิตเดียวกัน ผลปรากฏว่าติดเชื้อด้วยอีก 3-4 คน ทีมสอบสวนโรคของอำเภอเขาย้อยร่วมกับนายอำเภอเขาย้อย ได้เข้าทำการสอบสวนโรคในโรงงานดังกล่าวแล้วเมื่อวานนี้ และจะทราบผลส่วนขยายอีกประมาณ 300 คนในวันนี้
นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเขาย้อย กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเขาย้อยพบผู้ติดเชื้อโควิดในส่วนของโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก พบว่ามีการแพร่กระจายเชื้อภายในโรงผลิต ปรากฏว่ากลุ่มเสี่ยงติดเชื้อทั้งหมด จึงทำการเชื่อมข้อมูลจากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวขยายผลออกไป ปรากฏว่า 26 รายที่ทำงานใกล้ชิดเป็นผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ โรงงานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ปริมาณของพนักงานในบริษัทดังกล่าวมีประมาณ 1 หมื่นคนเศษ เป็นคนไทยประมาณ 4,500 คน และเป็นชาวเมียนมาประมาณ 6,500 คน ทำงานลักษณะเป็นกะสลับกัน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคได้ทำการปิดพื้นที่เสี่ยง และกำลังเร่งตรวจสอบขยายผลเพื่อหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม คาดว่าภายในช่วงเย็นวันนี้น่าจะประเมินสถานการณ์เพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น
นางวิพรกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์มีการติดเชื้อโควิดในพื้นที่อำเภอเขาย้อย เป็นห่วงทั้งประชาชนไทยและแรงงานต่างชาติ ความเห็นเบื้องต้นอยากให้มีการปิดโรงงานโดยทันทีเพื่อทำการสอบสวนโรคภายใน 7 วันก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากกว่านี้ แต่ต้องดำเนินงานตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีการสอบสวนโรคและนำข้อมูลไปประเมินถึงจะมีการสั่งปิดได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเพชรบุรี
ที่ จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 37 ราย มาจากกลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มค้นหาเชิงรุกในโรงงาน โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 32 คน ในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ ทำให้มีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้รวม 62 คนแล้ว และจะมีการตรวจคัดกรองคลัสเตอร์จากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งต่อวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งยังมีพนักงานในกลุ่มเสี่ยงอีกหลายร้อยคน
นายจารุวัฒน์กล่าวว่า จึงขอให้พนักงานของบริษัทไปตรวจคัดกรองเชื้อโควิดตามที่สาธารณสุขนัดหมาย ซึ่งมีหลักร้อยจากกว่า 2,000 คน จะประสานกับผู้บริหารโรงงานและสาธารณสุขในการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ในส่วนของพนักงานต่างชาติไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีที่พักเป็นสัดส่วนที่โรงงานจัดไว้ ส่วนในเรือนจำสงขลายังไม่พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด
ที่ จ.ยะลา กรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดยะลาเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครยะลา พลตำรวจตรีทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่ามีการปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเล่นการพนันหรือไม่ ถ้ามีก็จะมีการดำเนินการตามความผิด ตามลำดับชั้น
ที่ จ.นราธิวาส พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้สั่งการให้นำของบริโภค เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อหาแนวทางการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อนพบผู้ติดเชื้อจำนวน 40 ราย ซึ่งมีการล็อกดาวน์พื้นที่ โดยมีประชากรอาศัยอยู่ 1,832 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 10,307 คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยหน่วยทหารในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนของบริโภคอุปโภคและกำลังพล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันที
ที่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาด COVID-19 จังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 16 พ.ค.64 ณ เวลา 13.00 น. พบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 4,000 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย ผู้ติดเชื้อรักษาหาย 3,508 ราย ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ใน รพ. 476 ราย
ที่ จ.แพร่ เภสัชกรเด่น ปัญญานันท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ แจ้งสถานการณ์โควิด-19 จ.แพร่ ประจำเช้าวันที่ 16 พ.ค.64 ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม (เป็น 0) ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังคงเป็น 82 รายเท่าเดิม (เสียชีวิตสะสม 1 ราย) รักษาหายแล้ว 77 ราย คงเหลือที่ยังรักษาตัวอยู่ 4 ราย รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 49 ราย
ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ล่าสุดวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 ราย แยกเป็นพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา 4 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า รวมยอดผู้ป่วยระลอกใหม่สะสม 803 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 7 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย
ที่ จ.อำนาจเจริญ นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า จังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้ (16 พ.ค.64) ไม่มีผู้ป่วยยืนยันสะสม รายใหม่เพิ่ม รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอก 3 จำนวน 47 ราย โดยมีเพียง อ.ลืออำนาจ ผู้ป่วยยืนยัน 0 ราย ถือว่า เป็นอำเภอตัวอย่างของจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 แม้แต่รายเดียวมาร่วม 2 ปีแล้ว.