วันพฤหัสบดี ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564, 14.07 น.
ยามที่อากาศร้อนอบอ้าว อารมณ์อย่าร้อนตามอากาศ เพราะจะเป็นผลเสียแก่คนรอบข้างและตนเอง หนทางถูกต้อง ควรมีสติ อุปสรรค ปัญหาต่างๆ จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
อย่างเช่น นายนนันท์ คำบาง มีอาชีพทำนาปลูกข้าว ตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แม้บางปี ฝนตกไม่ดี ผลผลิตไม่เต็มที่ ขายกำไรไม่มาก บางปีถึงกับขาดทุน พอมีข้าวไว้กินปีต่อปี ยังคงก้มหน้าทำนาปลูกข้าวเหมือเดิม เพราะเป็นอาชีพที่แสนรัก ต้องอนุรักษ์ไว้ ให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป
นายนนันท์ คำบาง อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 1 บ้านคำแก้ว ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ยึดอาชีพทำนาปลูกข้าวตั้งแต่บรรพบุรุษ เล่าว่า ทำนามรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ จำนวน 20 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวเหนียว 8 ไร่ ปลูกข้าวจ้าว 12 ไร่ ถ้าปีไหนฝนตกไม่ดี ผลผลิตจะได้น้อย พอมีข้าวกินปีชนปี เพราะทำนาไม่ถึง 20 ไร่ ซึ่งทำนาตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกปี ส่วนปีที่ผ่านมา ฝนตกต้นปี ตกดีมาก จนน้ำท่วมนา ข้าวเสียหายจำนวนหนึ่ง แบ่งไว้กิน ที่เหลือขาย ได้เงินพอเป็นค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงานและอื่นๆ หักกลบลบหนี้สินแล้ว ไม่เหลือเงินกำไรเลย
นายนนันท์ คำบาง อายุ 61 ปี ชาวนาผู้หาเวลาว่างสานแห ขาย กล่าวว่า สำหรับฤดูกาลทำนาปีนี้(64) อยู่ระหว่างเตรียมที่นา ก่อนจะลงมือทำนา ไถหว่านข้าว จะมีพิธีทำบุญฝีตาแหก หรือ ผีไร่ผีนา เพื่อปกป้องรักษาที่นา ให้มีข้าวอุดมสมบูรณ์ ทำให้ฝนตกดี เป็นประจำทุกปี ชาวนาที่นี่ จะนำข้าว ขนมหวาน เหล้า หมากพู บุหรี่ มาบูชา ทำเป็นกระทงมาวางไว้ที่หัวนา พร้อมบนบานศาลกล่าว ให้ฝนตกดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ดี คล้ายกับ การขอฝน ขอผลผลิตให้อุดมสมบูรณ์ ให้มีอยู่มีกิน พอกพูน เพิ่มขึ้น ประมาณนี้
นายนนันท์ คำบาง ชาวนา ขณะนั่งสานแหให้ลูกค้า กล่าวว่า ปีนี้ ได้ผลผลิตข้าวไม่มาก เนื่องจากฝนหมดเร็ว ฝนน้อย จึงไม่ได้ขายข้าว แค่เพียงพอมีข้าวกิน และเหลือไว้เป็นพันธ์ข้าวส่วนหนึ่ง เพื่อทำนาปีต่อไป
และช่วงนี้รอฝนทำนาข้าวจึงมีบรรดาผู้ปลาด้วยแห ว่าจ้างสานแหให้ หลายสิบคน ก็เลยไม่ว่าง นั่งสานแหทั้งวัน ซึ่งเคล็ดลับ ที่ทำให้ บรรดาผู้ทอดแหหาปลาถูกใจมาก เพราะ จับปลาได้มาก เรียกว่า จับปลาหมาน(ภาษาอีสาน) ต่างเดินทางมาซื้อแหถึงที่นี่ เพราะว่า ก่อนจะสานแห จะนำเชือกด้าย ไปทำพิธีปลุกเสก จากผีตาแฮก ที่ผาม(ที่อยู่อาศัยผีตาแฮก)ด้วยการ ทำเป็นกระธงจากต้นกล้วย ก้านกล้วย ใบกล้วย โดยใส่หมาก พลู บุหรี่ สุรา น้ำดื่ม อาหาร คาวหวานลงไป เป็นการเลี้ยงผีตาแฮก เพื่อช่วยให้ เวลา นำแหไปทอดหาปลา ให้ปลาติดแหมากกว่าแหทั่วไป จากนั้น ก็จะนำเชือกด้ายดังกล่าว มาทำการสานเป็นแห ซึ่งบรรดาผู้ว่าจ้างสานแหหาปลา เชื่อว่า แหจากที่นี่ หาปลาดี จับปลาดี ได้ปลาเยอะ ประมาณนี้
นอกจากนี้ ยังทำตามใบสั่งลูกค้า ทั้งขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ทำได้ทั้งนั้น ในราคาปากละ 1,500 – 2,000 บาท ซึ่งมีลูกค้าสั่งให้ทำอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้เป็นอย่างดี
นายนนันท์ คำบาง ชาวนาผู้ไม่ชอบอากาศร้อนอบอ้าว กล่าวว่า ช่วงนี้ อากาศร้อน จึงต้องถอดเสื้อสานแห เพื่อคลายร้อน สำหรับการสานแห จะว่าทำยากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย อยู่ที่ความสามารถพิเศษของแต่ละคน บางคนสอนไม่กี่วันสานเองได้แล้ว แต่บางคนสอนจนท้อยังไม่เข้าใจและทำไม่เป็นเลย ซึ่งการสานแห เริ่มแรกให้หาเชือกด้ายขนาดเบอร์ 6 , 7 ,8 แล้วแต่จะใช้ขนาดเบอร์อะไร และขนาดแหที่จะทำ ด้วยการสานจากข้างบนให้ทำเป็นที่ยึดผูกกับไม้คานบ้าน หรือ กิ่งไม้ที่ความสูงประมาณ 2 – 3 เมตร ต่อมา ทำการสานแห จะแบบตาข่ายถี่ หรือ ตาข่ายห่าง แล้วแต่ตามความต้องการ โดยการสานจากข้างบนลงมาข้างล่างจนสุด จากนั้น ติดตั้งห่วงลูกโซ่ร้อยให้ครบจนรอบปลายปากแหด้านล่าง เพื่อถ่วงน้ำหนัก เวลาทอดแหลงน้ำ ปลาจะได้ติดแห ออกจากแหไม่ได้ เพราะมีห่วงลูกโซ่ถ่วงน้ำหนัก ไม่ให้แหลอยขึ้นเหนือน้ำ กันปลาออกจากแห ซึ่งถือว่า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ชาญฉลาด ในการจับปลา ที่สำคัญแหจะเสร็จสมบูรณ์ได้จะต้องผ่านการย้อมสีจากเปลือกไม้ธรรมชาติเสียก่อน
นายนนันท์ คำบาง ชาวนานำเอาภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่อง การสานแห มาทำขายได้เงินใช้ กล่าวว่า สำหรับแหจับปลามี 2ขนาด คือ 1 แหจับปลาแบบตาข่ายถี่และ 2.แหจับปลาแบบตาข่ายห่าง วิธีใช้จับปลา จะไม่เหมือนกัน เช่น แหจับปลาแบบตาข่ายห่าง เวลาทอดลงน้ำ จะติดเฉพาะปลาตัวใหญ่ ซึ่งใช้จับปลาใหญ่อย่างเดียว ส่วนแหตาข่ายถี่ จะใช้ทอดจับปลาตัวเล็ก ซึ่งไม่อาจเล็ดลอดออกจากแหได้ จึงเป็นกลเม็ดเคล็ดลับ ซึ่งชาวนาบอกสอนจากรุ่นสู่รุ่น ที่สำคัญเวลาหาปลา จับปลา จะต้องแน่ใจว่า ลำห้วย หรือ หนองน้ำนั้นๆ เป็นแหล่งปลาเล็ก หรือ ปลาใหญ่ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้ใช้แหทอดลงไปได้ถูกต้อง จับปลาเล็ก ปลาใหญ่ ได้ตามความต้องการ
ส่วนวิธีการทอดแหมีเคล็ดลับ ไม่ยาก ทำได้ทุกคน หากใจรัก กล่าวคือ ขณะยืนอยู่บนฝั่ง หรือ บนเรือ แหจะพาดที่บ่าไหล่ ถึงกลางหลัง ตาจะต้องจ้องมองที่พื้นน้ำเบื้องล่าง ตลอดเวลา ถ้าพบปลาขึ้นมาจากน้ำ เพื่อหายใจ ก็จะเกิดฟองอากาศ กระจายเป็นวงกลม จึงเป็นช่วงเวลาพอเหมาะที่จะทอดแหลงน้ำ เหวี่ยงให้ไปที่จุดปลาขึ้นมาหายใจ ทำให้ปลาไม่รอด ติดแหจำนวนมาก ได้ปลาสมใจ
นายนนันท์ คำบาง เซียนแหจับปลาฝีมือระดับอาจารย์แห่งลำน้ำโขง กล่าวทิ้งท้ายว่า สมัยยังหนุ่ม เคยจับปลาด้วยการทอดแห ตามริมแม่น้ำโขง ได้ปลาเป็นจำนวนมาก จนบรรดาผู้ทอดแหหาปลาด้วยกัน ยกให้เป็น “ เซียนแห แห่งลำน้ำโขง” เพราะหาปลาเก่งกว่าคนอื่น แต่ว่า ทุกวันนี้ ไม่ได้ทอดแหหาปลามานานแล้ว เพราะอายุมาก สุขภาพไม่ค่อยจะดี ซึ่งยังไม่ปล่อยวาง ยังคงอยู่เบื้องหลัง โดยการทำแหป้อนให้กับคนรุ่นใหม่แทน แถมบอกสอนกลเม็ดเคล็ดลับ ในการทอดแหหาปลา ที่ชาญฉลาด เพื่อเสริมความรู้ อย่างไม่บิดบังให้อีกด้วย
สนธยา ทิพย์อุตร/รายงาน.