น.อ.ผศ.ดร.เกียรติคุณไชย จิตต์เอื้อ ผู้เชี่ยวชาญจาก ร.ร.นายเรืออากาศนวมินทร์กษัตริยธิราช และ ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ ถ่ายภาพผู้อบรมและโดรนรุ่นใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยียุคดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรกรรม
เฉกเช่น ชาวนาในพื้นที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ มีการนำ “โดรน” ไปใช้แทนแรงงานคน และสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
กลายเป็นโครงการ “หัวตะพาน โมเดล” ศูนย์ฝึกบินโดรนแบบมาตรฐานให้กับผู้สนใจ ตอนนี้มีผู้เข้าอบรมผ่านไปแล้ว 3 รุ่น โดยรุ่นล่าสุดเพิ่งจบหลักสูตรไปหมาดๆ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการผลักดันสนับสนุนจาก ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ วิศวกรหนุ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีกรีปริญญาโทจาก University of Warwick ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
จากผลงานการทำวิจัยรูปแบบการจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำเซบาย อ.หัวตะพาน หลังเรียบจบไม่ต้องการให้งานวิจัยต้องถูกทิ้งไว้บนหิ้งเหมือนนักศึกษาหลายๆคน
นำมาต่อยอดความใฝ่ฝันที่อยากให้ชาวนาดั้งเดิมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ก่อนไปฝังตัวอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่บ้านคำน้อย ต.สร้างถ่อน้อย อ.หัวตะพาน เพื่อศึกษายกระดับความรู้ของเกษตรกรให้ทันต่อเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว
โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนสมัยเรียนอยู่อังกฤษ น.อ.ผศ.ดร.เกียรติคุณไชย จิตต์เอื้อ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทร์กษัตริยธิราชในฐานะผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (GIS) การสำรวจระยะไกล Remote Sensing มาช่วยสอนการวิเคราะห์ดัชนีพืชพรรณ การสร้างแบบจำลองเพื่อการจัดการน้ำการเกษตร แผนการผลิต ปฏิทินการปลูก (Crop calendar) และการวางแผนรับมืออุทกภัย
การทำงานอย่างจริงจังและเห็นผลก่อให้เกิดความร่วมมือกับอีกหลายฝ่าย เช่น ผศ.ดร.โชติพงษ์ กาญจประโชติ หน่วยวิจัยและโซลูชันการเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ส่ง อ.สกาย เทพบุญ ผู้ช่วยนักวิจัยสมาร์ทฟาร์ม มาช่วยสอนเทคโนโลยีอย่างเข้าถึงและเข้าใจให้กับผู้เข้าอบรม
ดร.ดี เปิดเผยว่า “หัวตะพาน โมเดล” เกิดจากความสำเร็จหลายส่วน โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนหัวตะพานนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้โดรนบินหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก โดยมีขีดความสามารถไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ต่อตัว
มี สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอำนาจเจริญ มาร่วมกันจัดทำหลักสูตรฝึกบินโดรน 18 ชม. และ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้สนับสนุนหลักนำโดรนเทคโนโลยีตัวใหม่ล่าสุดมาให้ผู้เข้าร่วมอบรมฝึกบินในโครงการ “ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน” รวมทั้งหมด25คน
ด้าน นายวิระ อุ่นอก ผอ.สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอำนาจเจริญ เผยว่า ต้องขอบคุณนายชัย มีเดชา ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มาให้คำแนะนำและมอบวุฒิบัตร วพร.ให้กับผู้ฝึกอบรมที่จบหลักสูตรทุกคน
“ตอนนี้นักบินโดรนเพื่อการเกษตรขาดแคลนมาก ตลาดมีความต้องการสูง หากไปทำงานในบริษัทเอกชนจะมีรายได้เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทเลยทีเดียว” นายวิระ กล่าว
“หัวตะพาน โมเดล” เป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบการเกษตร ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน สามารถต่อจิ๊กซอว์ได้อย่างลงตัวระหว่างเกษตรกรรุ่นดั้งเดิมที่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีกับคนรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่สามารถพัฒนาการเก็บข้อมูลในการทำงานอย่างเป็นระบบ
ไม่ว่าจะเป็นการพ่นปุ๋ย ฉีดสารอารักขาพืช ทั้งปริมาณ วันและเวลาจะถูกบันทึกในแพลตฟอร์มของโดรนโดยอัตโนมัติซึ่งเป็น Big Dataเพื่อนำไปวิเคราะห์ในการจัดการแปลงปลูกอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
นับเป็นโมเดลต้นแบบที่ดีเยี่ยม ส่วนใครสนใจอบรมเป็นเกษตรกรยุคใหม่ติดต่อได้ที่ 0–4552–3506 ยินดีให้ความรู้.
สกนธ์ บุญวิทย์ รายงาน