ตั้งอยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือใบเสมาสมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว อายุประมาณ 1,000 ปี ราว พ.ศ. 1,200-1,300 ศิลปะขอมแบบไพรกเมง มีลักษณะเรียว ปลายแหลม คล้ายใบหอกป้าน ด้านล่างคอดส่วนฐานสลักลายดอกบัวบาน ใบเสมาเหนือแนวกลีบบัวสลัก แนวแกนเสมาคล้ายรูปสถูปจำลองหรือปลียอดสถูป ด้านล่างเป็นรูปหม้อน้ำตั้งซ้อนอยู่บนองค์ระฆังคว่ำ ถัดไปเป็นปล้อง มีแนวลวดลายบัวคั่นตรงกึ่งกลาง แกนเสมาสลักลายใบไม้ 3 แฉก หงายขึ้นรับลายดอกไม้ครึ่งดอก ในขอบวงโค้ง 3 วงเรียงต่อกันส่วนยอดเป็นพุ่มปลายแหลมเหมือนยอดธงมีอุบะห้อย ลวดลายกลีบบัว บนฐานเสมาได้รับอิทธิพลมาจากลายกลีบบัว ฐานพระพุทธรูปหรือธรรมจักรศิลปทวาราว ดีทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้ง 3 วงที่เรียงต่อกันเป็นวงเดียวกันนั้นคล้ายคลึงกับ ลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้ง ที่ปรากฎอยู่บนฐานเทวดาซึ่งย่อตัวพนมมือ หันเข้าหาจุดกึ่งกลางของทับหลัง ซึ่งขุดพบที่บริเวณประตูด้านทิศตะวันออก ของปรางค์ทิศเหนือของปราสาทเขาน้อยสีชมพู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว