ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ริมทางหลวงหมายเลข 212 (อำนาจเจริญ-ยโสธร) ตำบลบุ่ง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบปาละของอินเดียเหนือ ที่แผ่มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว และในปี พ.ศ. 2508 จิตร บัวบุศย์ ได้ออกแบบสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์พระพุทธรูปปูนปั้นเดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอํานาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจําภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า “พระละฮาย” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระขี่ล่าย” หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทําฝายกั้นน้ำ เชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ