27 ม.ค.64 – กลุ่มประชาชนในนามเครือข่าย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จัดเวทีสาธารณะสถานการณ์โครงการพัฒนาเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ณ ศาลาประชาคมเชียงคาน จ.เลย โดยมีกลุ่มฮักแม่น้ำเลย กลุ่มประมงเชียงคาน กลุ่มประมงแก่งคุดคู้ กลุ่มประมงบ้านผาแบ่น เข้าร่วม พร้อมออกแถลงการณ์ แม่น้ำต้องไหลอิสระ โดยมีใจความระบุว่า แม่น้ำโขง ในฐานะแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิตผู้คนและชุมชนลุ่มน้ำโขงคลอบคลุม 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังเผชิญกับการคุกคามผ่าน การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการสร้างเขื่อนกั้นประตูระบายน้ำบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และธุรกิจเหมืองทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง
ตลอดจนการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ก่อให้เกิดการพังทลายของดินและความเสื่อมถอยของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ การลดหายของความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีสาเหตุมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมเสรีที่มีเป้าหมายคือเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตท่านั้น
แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า ทั้งนี้แม่น้ำโขงไหลผ่านภาคภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายและภาคอีสานเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว คลอบคลุม 7 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในสถานการณ์ที่แม่น้ำโขงต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล กับโครงการเขื่อนศรีสองรักษ์ ที่กั้นเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ก่อสร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน เพียงแค่ 1.4 กิโลเมตร ตลอดจนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย ที่มุ่งผลิตไฟฟ้าและยกระดับน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อสูบน้ำโขงเข้าอุโมงค์ ผันน้ำเข้าโครงการ โขง เลย ชี มูล ส่งน้ำไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ในภาคอีสาน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ตามลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง อาทิ ลุ่มน้ำสงคราม เป็นต้น ที่กำลังถูกผลักดันในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ เราเชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารต่อชุมชนในลุ่มน้ำโขง อีสาน และลำน้ำสาขาอย่างรุนแรงในอนาคต แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ความล้มเหลวของการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐที่อ้างวาทกรรมภัยแล้ง คำว่า แล้งซ้ำซากจะยังใช้ได้และเป็นบทนำในการหากินสร้างฝันและจินตนาการให้กับนักการเมืองยกมือสนับสนุนผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำโดยไม่คิดจะทบทวนความล้มเหลวในอดีตในการบริหารจัดการน้ำก็ไม่สามารถที่หาผู้ที่รับผิดชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐมนตรี อธิบดี กรม กองต่างๆ แต่คนที่รับทุกข์คือประชาชน ที่ถูกกล่าวอ้างว่าจะได้ประโยชน์จากการพัฒนา ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยืนยันที่จะ ปกป้องแม่น้ำโขง ด้วยการติดตาม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอทางเลือกในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาได้ไหลอย่างอิสระ.