ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน
How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก
บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP ประกอบธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ เอสแอนด์พี มากว่า 50 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2532 เมื่อกฎกติกาโลกเปลี่ยนเพื่อก้าวสู่เส้นทางความยั่งยืนขึ้นเรื่อยๆ ปี 2561 เอสแอนด์พีเริ่มวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและการกำกับกิจการที่ดี เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กรขึ้น เพื่อติดตามและรับผิดชอบ การขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG (environmental, social and governance) เป็นหลัก ทำให้เอสแอนด์พีก้าวขึ้นติดอันดับ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) 2 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2564 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญอยู่ภายใต้การนำของนายกำธร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการผลิต (CFO) ที่ตั้งเป้าให้สายการผลิตของ SNP มีการใช้พลังงานสะอาด และมณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร
มณีสุดาบอกว่า แม้เรื่องความยั่งยืนจะเป็นไปด้วยความยากในการปฏิบัติ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยการมีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงเข้ามารับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนโดยตรง และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้ที่จะทำเรื่องนี้
มณีสุดาเล่าว่า ที่ผ่านมา เอสแอนด์พีฝังเรื่องความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการทำงานมาโดยตลอด รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (corporate social responsibility หรือ CSR) ที่เป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน แต่เมื่อมีความชัดเจนหลังจากสหประชาชาติประกาศเป้าหมายความยั่งยืน เมื่อปี 2558 ทำให้ SNP จัดตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กรขึ้นในปี 2561 เพื่อสะท้อนว่า แม้ SNP จะเป็นธุรกิจอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมาร์เกตแคปไม่ใหญ่ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเรื่องความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ล่าสุดจะมี COP27 ยิ่งทำให้ภาพเริ่มชัดขึ้น จึงมีการทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง มีการวางเป้าหมายในช่วงแรกเป็นเพียงการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อยู่ในศักยภาพที่สามารถทำให้สังคม ให้กับคนรอบตัว หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ โดยมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่ผ่านมามีการลองผิดลองถูกมาในเรื่องนี้โดยตลอด
“โดยช่วงแรกความยั่งยืนอาจถูกมองว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท ประจวบเหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พอดี ส่งผลให้ยอดขายแต่ละบริษัทไม่เป็นไปตามเป้า SNP ก็ลำบากมากที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อ ตอนนั้นสิ่งแรกที่อยากทำคือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อเคาะค่าใช้จ่ายแล้วสูงมาก จึงมองว่าจะเปลี่ยนทีเดียวเลยไม่ได้”
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SNP เดิมจะมี 5 ข้อ ต่อมาได้เพิ่มอีก 2 ข้อ รวมเป็น 7 ข้อ เป็นเป้าหมายทั้งอยู่ในกระบวนการผลิตเดิม และได้จากการตอบคำถามในแบบประเมินของ THSI ที่ทำให้รู้ว่า แม้ SNP ทำเรื่องความยั่งยืนมาตลอด แต่มีอีกมากมายที่ยังทำได้ โดยแบบประเมินมีคำถาม 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ปรากฏว่า ด้านสิ่งแวดล้อม SNP ทำได้สูงมาก และดีกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม ดีกว่าค่าเฉลี่ย เพราะทำเรื่องนี้เยอะมาก จึงควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม และเป็นเหตุผลให้เพิ่มเป้าหมาย SDGs Goal ข้อ 13 คือ climate change
ส่วนเป้าหมายอื่นๆ จะเกี่ยวพันการทำธุรกิจหมด เช่น zero hunger เพราะอยู่ในธุรกิจอาหาร มีขยะอาหาร (food waste) ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะอาหารที่บริโภคในโลก เป็นขยะ 30-40% ขณะที่มีคนขาดแคลนอาหารทั่วทุกมุมโลก ทำอย่างไรจะเกลี่ยอาหารของคนที่มีเหลือส่งต่อให้คนที่ขาดแคลนได้ นี่เป็นหนึ่งในเป้าหมาย
หรือข้อ 3: good health and well-being การรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทุกช่วงอายุ ที่ผ่านมา เอสแอนด์พีมีเป้าหมายจะเป็นครัวคนไทย และเป็นครัวสุขภาพดีให้กับคนไทยด้วย จึงทำเรื่องนี้ และไม่ได้ทำให้กับลูกค้าอย่างเดียว แต่ทำให้คนในองค์กรด้วย เริ่มจากคนในองค์กรก่อน มีการตรวจสุขภาพ ดูแลให้มีการออกกำลังกายและนำไปสู่คนในชุมชนรอบตัว
ข้อ 4: quality of education เป็นเรื่องที่เพิ่มขึ้นมาในปีที่ผ่านมาเนื่องจาก SNP มีการทำศูนย์การเรียนมามากกว่า 12 ปี เพื่อฝึกการทำอาหารและค้าปลีก เด็กๆ ที่มาฝึกงานจะจบระดับ ปวส. รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ และได้ทำงานไปด้วย จนมีผู้แนะนำให้ทำ quality of education เพราะมีทุกอย่างครบวงจร
ส่วนข้อ 8: decent work and economic growth ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า แน่นอนว่าอยากทำสถานที่ทำงานให้รื่นรมย์ และธุรกิจต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่กำไรสูงสุด เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ปฏิเสธไม่ได้
ข้อ 12: responsible consumption and production การรับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เนื่องจาก SNP ไม่ได้มีธุรกิจเฉพาะร้านขายอาหาร แต่เริ่มตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ มีโรงงานผลิต 4 โรง มีธุรกรรมหลังบ้านมากมาย เรียกว่าทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ฉะนั้น การนำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ไม่ง่าย เพราะต้องเริ่มตั้งแต่นโยบายการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ responsible sourcing ต้องทำ green producting จึงเป็นสาเหตุให้เลือกเป้าหมายการผลิตที่ยั่งยืนด้วย
และข้อสุดท้าย 17: Partnerships for the Goals สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการทำเรื่องความยั่งยืน เอสแอนด์พีไม่สามารถอยู่ได้คนเดียว และไม่เรียกเพื่อนร่วมธุรกิจว่าเป็นคู่แข่งอีกต่อไป แต่เป็นคู่ค้าที่มาช่วยกัน และธุรกิจจะไปได้ ต้องได้รับความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่มีจุดแข็งเรื่องต่างๆ จึงได้ร่วมกับหลายองค์กรทำเรื่องความยั่งยืน เช่น กลุ่ม SCG, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เป็นต้น เพื่อให้การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมของเอสแอนด์พีสมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่ม SCG มีการทำร่วมกันหลายโครงการมาก และจุดประกายให้ทำด้านอื่นๆ ด้วย และเป็นซัพพลายเออร์ให้ หรือการทำโซลาร์รูฟในโรงงานผลิต ที่ทำมานานมากในยุคที่โซลาร์รูฟราคาสูงกว่าปัจจุบันเป็นสิบเท่า และต้องอาศัยเงินกู้โดยมีธนาคารกสิกรไทย ให้สินเชื่อ green loan เป็น green financing รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ
“การมีพันธมิตรจึงทำให้ได้คำแนะที่ดี ฉะนั้น จะอยู่เองรายเดียว ไม่สามารถทำได้ ต้องมองหาคนเก่งในด้านอื่นมาช่วย ทำให้เป้าความยั่งยืนสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ง่าย และเร็วขึ้น”
มณีสุดากล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อดีของการเข้าร่วมทำแบบประเมินของ THSI คือ ทำให้รู้ช่องว่างที่จะต้องทำเพิ่ม และฝันอยากจะทำแบบประเมินที่เป็นสากล อย่าง S&P แม้จะยังก้าวไปไม่ถึงก็ตาม เพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง และทำให้มีมุมมองเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
“การทำแบบประเมินทำให้เห็นอะไรหลายอย่างที่อยากมาพัฒนาในองค์กร อย่างไรก็ตาม แม้ SNP ได้คะแนนเรื่องสิ่งแวดล้อมดี แต่ด้านอื่นก็ไม่แย่ ทั้งสังคมและธรรมภิบาล อยู่ในค่าเฉลี่ย แต่สิ่งที่ขาดไป ไม่ใช่เพราะไม่ได้ทำ คือทำ แต่ไม่ได้ประกาศออกมาเป็นนโยบาย คือการจะตอบโจทย์ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องมีการประกาศ ลงวันที่ มีผู้บริหารลงนาม ฯลฯ เช่น SNP ทำอยู่แล้วเรื่องอาหารปลอดภัย มีการตรวจสอบซัพพลายเออร์ มีการวิเคราะห์ว่ามี critical supplier กี่เจ้า เพียงแต่ไม่ได้เขียนออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มีการดูแลพนักงาน การจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม จำนวนชั่วโมงทำงาน คือถ้าไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้จะต้องมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น แต่ SNP ไม่มีกรณีพิพาทเหล่านี้เลย พอมาปี 2564 จึงเข้าใจว่าการตอบแบบประเมินต้องมีการประกาศนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน บางอย่างก็เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น มีการประเมินซัพพลายเออร์ละเอียดขึ้น หรือวัตถุดิบที่เป็น top10 หรือ top20 ต้องตรวจสอบถี่ขึ้น เข้มข้นขึ้น เป็นต้น”
“ต้องบอกว่าตั้งแต่ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนมา 4 ปี มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ จากการดูแบบอย่างจากคนรอบข้าง แล้วมาดูตัวเองว่าศักยภาพของเอสแอนด์พีจะทำอะไรได้บ้าง โดยใช้ค่าใช้จ่ายอยู่ในหลักการที่บริษัทไม่เดือดร้อน ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด ทำได้จริง และไม่ได้คิดว่าต้องทำให้ได้ทุกอย่างภายในปีเดียว มีการพูดคุยทบทวนตามเกณฑ์ของ THSI ว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมไปไกลแล้ว เพื่อทำเพิ่มเติมในสิ่งเหล่านี้ โดยทุกอย่างขึ้นกับงบฯ ที่มี เพราะทุกอย่างมีต้นทุน เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมหรือไม่”
สื่อสารบอร์ด-พนักงาน ก้าวแรกธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
มณีสุดายอมรับว่า การทำเรื่องยั่งยืน ที่ผ่านมาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ผ่านการลองผิดลองถูกมาทุกเรื่อง แต่อยากแชร์ประสบการณ์สำหรับคนที่เพิ่งทำใหม่ๆ อาจรู้สึกอึดอัด หรือเหนื่อย เพราะคนรอบข้างไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนเรา ฉะนั้น การทำเรื่องความยั่งยืน เรื่องแรกต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
“ในช่วงโควิด-19 บริษัทขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี พอไปคุยกับบอร์ด ก็มีมติให้ชะลอโครงการเรื่องความยั่งยืนไปก่อน แต่ตัวเองเป็นคนที่มี passion เรื่องนี้มาก และไม่อยากให้เกิดสิ่งที่เราประกาศไปแล้วแต่ทำไม่ได้ จึงขอบอร์ดทำต่อ แต่ทำในเรื่องที่ใช้เงินน้อย เช่น ให้พนักงานแยกขยะ ซึ่งการโน้มน้าวบอร์ดในเรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอ SNP ได้รางวัล เริ่มเห็นผลงานด้านต่างๆ เท่ากับมีความสำเร็จเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้การนำเสนอต่อบอร์ดมีน้ำหนักมากขึ้น วันที่ THSI ให้ SNP เป็นหุ้นยั่งยืน ได้รับเสียงชื่นชมจากทุกคน เป็นกำลังใจมากๆ ทำให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้วจริงๆ พอประสบความสำเร็จ ก็เริ่มทำด้านอื่นๆ คือ เรื่อง climate change โดยต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจน พอปีต่อมา เอสแอนด์พีได้รางวัล “Sustainability Excellence” ในงาน SET Awards 2022 หมวด Rising Star ยิ่งเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานมากๆ”
มณีสุดาเล่าต่อว่า นอกจากนี้ต้องสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจว่าความยั่งยืนคืออะไร และที่สำคัญคือการลงมือทำ (execution) โดยช่วงแรกจะมีตติ้งบ่อยๆ และรู้ว่าเขาเหนื่อย อย่าง เรื่องแยกขยะ ต้องชั่งน้ำหนักขยะ อาจจะมีคนบ่นบ้างเพราะเพิ่มภาระงานให้เขา แต่ SNP ทำเพราะต้องการลดขยะอาหาร (food waste) ที่มีเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท และเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และคนขาดแคลนเยอะมาก รวมทั้งหาพันธมิตร ได้มูลนิธิ เอสโอเอส ที่มีโลจิสติกส์ดีมาก มารับอาหารที่หมดอายุ แต่ยังบริโภคได้อีก 2-3 วัน โดยมีเงื่อนไขให้มูลนิธิส่งต่ออาหารให้ทันที ยกเว้นจะไม่ส่งอาหารที่มีครีม อาหารที่เสียง่าย มีการอบรมพนักงานหน้าร้าน อะไรส่งต่อได้ อะไรไม่ส่งต่อให้คนอื่น
“เริ่มแรกพนักงานบ่น เพราะงานเพิ่ม ตอนเย็น พนักงานต้องมานั่งคัดขนมที่จะส่งต่อ พนักงานต้องตอบคำถามว่าบริจาคอะไรบ้าง เพื่อดูว่าทำตามกฎหรือไม่ ต้องลงไปดูที่สาขาเลย ตอนนี้ทำมาได้เกือบ 2 ปี มีการส่งต่ออาหารให้ชุมชนมากถึง 197,000 กว่ามื้อ ลดขยะอาหารที่เดิมต้องโยนทิ้งขยะประมาณ 46 ตัน ใน 40 สาขา 4 จังหวัด”
“พอเราจริงจัง ลงมือจริง พนักงานเขารู้สึกว่า ต้องช่วยกัน พอถึงจุดหนึ่งก็กลายเป็นความคุ้นชินของเขาแล้ว หรืออย่างในโรงงานผลิต เขาก็ยินดีทำทุกอย่าง นอกจากทำเรื่องโซลาร์รูฟแล้วยังทำเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพรินต์ให้ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดในการทำงานมากขึ้น แสดงว่าพนักงานเริ่มเห็นด้วยและมีความพยายามไปกับเรา ทุกอย่างกลายเป็นเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงาน และต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจจริงๆ เรื่องความยั่งยืนจึงเกี่ยวกับคนทุกคนรอบตัวเรา ในรายงานจึงพูดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เริ่มจากคนในองค์กรก่อนที่ต้องเข้าใจ แล้วจึงจะขยายผลสู่คนภายนอกได้ชัดเจนขึ้น หรือในการประชุมผู้ถือหุ้น จะมีคำถามว่า เอสแอนด์พีทำอะไรบ้างเรื่องความยั่งยืน ทำให้วันนี้ไม่สามารถละเลยหรือเพิกเฉยเรื่องนี้ได้”
นอกจากนี้ยังมีการติดตามประเมินผลทุกปี โดย KPI คือเป้าหมายที่วัดและประกาศสู่สาธารณชน มีการรายงานความก้าวหน้า โดยเป้าหมายระยะใกล้ที่สุดที่ตั้งใจทำ คือ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นบรรจุภัณฑ์รักโลกให้ได้ 100% ภายในปี 2565 คือปีนี้ แต่ยังไม่ได้ 100% ได้ 98.7% ขาดนิดหน่อย เพราะมีบรรจุภัณฑ์บางอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกชั้นเดียวแบบเดียวได้ เพราะถ้าเปลี่ยนจะทำให้อายุผลิตภัณฑ์สั้นลง
ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่กระทบ PPP ( people, profit, planet) ในส่วนที่เป็น profit ก็จะไม่ยั่งยืนเหมือนกัน จึงต้องมีสมดุล และเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ คือการพยายามดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอื่น เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง PPP ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน
เรื่องความยั่งยืน ต้องไม่ give up
มณีสุดาบอกว่า การทำเรื่องความยั่งยืนของเอสแอนด์พี เป็นการต่อภาพจิ๊กซอว์ โดยภาพที่สวยงามจะเป็นภาพที่ใหญ่มาก เหมือนจะยากแต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น และเป็นการค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ และอยากบอกทุกคนที่จะเริ่มทำเรื่องความยั่งยืนว่า ถ้าอยากทำต้องไม่ give up อย่างตอนโควิดเข้ามา ทำให้ไม่มีเงิน แต่จะไม่หยุด ก็ทำเรื่องแยกขยะ เริ่มจาก 20 สาขามา 60 สาขาในปีนี้ และมีพันธสัญญา (commitment) จะทำให้ได้ 100% คือเป็นความฝันจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และพอทำได้จริงมันวัดผลได้ เช่น วัดผลจากน้ำหนักขยะที่แยกจริงว่า เป็นขยะรีไซเคิลเท่าไหร่ ขยะเปียกเท่าไหร่ อย่างพวกผักที่ตัดแต่งหรืออื่นๆ ในโรงงานผลิต เอาไปเป็นอาหารสัตว์ เอาไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้โรงงานได้รางวัล Zero Waste to Landfill จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระบวนการอาจจะดูยุ่ง แต่เห็นผล
“ภาพฝันชัดขึ้นเรื่อยๆ พอได้รางวัล Rising Star ของตลาดหลักทรัพย์ มีผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์มาพูดว่า เขาชื่นชมจริงๆ เขาไม่คิดว่าเอสแอนด์พีเพิ่งทำเรื่องนี้ แต่มีความก้าวหน้าเร็วมาก วัดผลได้ในหลายด้าน เป็นกำลังใจจริงๆ”
มณีสุดาบอกด้วยว่า การทำเรื่องความยั่งยืนแม้จะลำบาก แต่ 4 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า SNP ได้อะไรมากกว่าที่คิด เช่น ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งเป้าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงานสะอาด ไม่ใช่ green production 100% แต่ก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีการเพิ่มโซลาร์รูฟในโรงงานผลิตอาหาร หรือการทำศูนย์กระจายสินค้า ที่ต้องใช้งบ 600 ล้านบาทในการซื้อที่ดินและปรับปรุงให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า ทำให้ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ประมาณ 11% และประหยัดค่าน้ำมัน 8 ล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่เดือน การเริ่มใช้รถไฟฟ้า (อีวี) ในการขนส่ง หรือเปลี่ยนลังใส่เค้กที่เป็นกระดาษที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มหาศาล มาเป็นลังพลาสติก
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากสงคราม ทำให้แป้ง เนย น้ำตาล วัตถุดิบต่างๆ ราคาสูงขึ้น แต่ SNP อยู่ได้ เพราะมีการจัดเรื่องโลจิสติกส์ใหม่ เงินที่ประหยัดได้ไปชดเชยราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น เพียงแค่ต้องกล้าที่จะทำ การลงทุนวันนี้เพราะมองไปข้างหน้าว่าจะต้องดีขึ้น
หรือในด้านสังคม ที่เรียกว่า responsible sourcing นโยบายการจัดหาจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบ เช่น การเปลี่ยนการจัดซื้อวัตถุดิบจากคนกลาง ไปจัดซื้อจากเกษตรกรโดยตรง มีการรับฟังปัญหา การให้ความรู้ โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการลงพื้นที่เองในการเยี่ยมพื้นที่เกษตรกรปีละ 3-4 จังหวัด ทำให้สิ่งที่ได้อย่างมาก คือเรื่องของจิตใจ
“อย่างเช่น การลงพื้นที่เพื่อซื้อส้มเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรผู้ปลูกจะเล่าว่า มีคนมาซื้อส้มก็จริง แต่จะคัดเฉพาะผลสวยๆ แต่มีส้มลูกใหญ่กว่ามะนาวนิดเดียว ผิวดำ แต่ชิมแล้วหวานมาก ถ้าช่วยซื้อได้ เขาจะไม่ขาดทุน เราจึงรับซื้อส้มไม่สวยนี้ทั้งหมดเพื่อทำน้ำส้มคั้น ปรากฏว่าเกษตรกรเข้ามากอดเราแล้วร้องไห้ นี่คือสิ่งที่เกินความคาดหมาย คือไม่ได้แค่ซื้อ แต่ทำให้เขาไม่ขาดทุน”
หรือการซื้อผ้าขาวม้ามาทำถุงผ้า ที่จังหวัดอำนาจเจริญ เขาดีใจมาก เพราะโควิดทำให้เขาขายไม่ได้มา 2 ปี ไม่มีรายได้ หรือการซื้อทุเรียน ที่ปกติซื้อจากภาคตะวันออก แต่เจอคู่แข่งอย่างจีนที่รับซื้อเยอะมาก ตามหลักความยั่งยืน ต้องหาแหล่งวัตถุดิบที่อื่นเพื่อแชร์ความเสี่ยง ปีที่ผ่านมา จึงลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รอบแรกเนื้อทุเรียนไม่ได้ ก็เอาทีมวิจัยและพัฒนาไปทำเป็นปีจนเนื้อทุเรียนได้ และลงทุนสร้างโรงงาน มีคนถามว่าไม่กลัวหรือ กลัวนะ แต่คิดว่าทำดีพระคุ้มครอง ตอนลงพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าฯ ไปพบและชวนกินข้าว ขอให้ SNP เป็นบริษัทตัวอย่าง เพื่อจุดประกายให้คนอื่นๆ ทำแบบเรา เพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดที่จีดีพีต่ำที่สุดในประเทศ หรือวันที่ไปสวนทุเรียน มีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมารอ 30-40 คน มาขอบคุณเรา ถึงได้บอกว่า การลงพื้นที่ในการจัดซื้อจากเกษตรกรโดยตรงมันได้อะไรมาก ได้มากกว่าวัตถุดิบที่ปลอดภัย มันได้ความรู้สึกทางใจด้วย ได้กำลังใจจากสิ่งที่เห็น และคิดว่าจะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด
“ฉะนั้น เรื่องความยั่งยืน ทำแล้วเห็นผลจริงๆ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่รอบตัวเรา เรียกว่า ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานได้รับการดูแลใส่ใจจริงๆ”
มณีสุดาสรุปในตอนท้ายว่า ในฐานะที่ผ่านอุปสรรคมามากเรื่องการทำ ESG จึงอยากบอกเล่าเรื่องราวการฝ่าฟันให้เป็นตัวอย่างให้กับคนที่จะเริ่มทำ ESG หรืออยากทำอะไรที่ดีๆ และพร้อมที่จะให้คำแนะนำผ่าน ESG Expert Pool ของตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นเหมือนคลินิกสำหรับผู้ลงทะเบียนเข้ามาคุยว่า อยากทำ แต่ยังไม่ได้เริ่มเลย ก็นั่งคุยและเล่าว่าเราทำอย่างไร จากประสบการณ์ตัวเอง เพราะแต่ละบริษัทมีความแตกต่าง ถ้าใครอยากเริ่มทำ ESG ให้เริ่มในสิ่งที่ถนัด หรือเรื่องที่ทำแล้วเห็นผลต่อบริษัท พอทำแล้วเริ่มดี ตอบโจทย์เรื่องกำไร พอมีกำไรมากขึ้น ก็จะวนกลับไปที่ความสามารถในการตอบแทนสังคมอื่นๆ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การได้อยู่ใน IOD Community of Practice ได้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับบอร์ดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บอร์ดต้องเปิดใจรับฟังเรื่องการทำความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้บ้าง เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำเอง ทำให้เห็นปัญหาคืออะไร จะแก้ตรงไหน เรื่องความยั่งยืนทำได้หลายด้าน และเป็นรากฐานการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ต้องมีกำไร ไม่มีกำไรก็อยู่ไม่ได้ และรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุเลยว่า จากนี้ไปประเทศไทยต้องเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ มีการประกาศเป้าหมาย zero carbon ฉะนั้น หลายบริษัทที่ตั้งใจจะทำขอให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าไม่เริ่มจะไม่สำเร็จ เริ่มทีละนิดละหน่อย เริ่มจากสิ่งที่ใช้เงินไม่มาก พอสำเร็จค่อยขอเงินต่อ ใช้เงินมากขึ้น ทำให้ทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เห็นว่า ความยั่งยืน เป็นประโยชน์จริงๆ ทำเรื่องความยั่งยืน ธุรกิจก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน
ในด้านนักลงทุนนั้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พบว่า จะมีคำถามเรื่องนี้เยอะ เขาจะรู้สึกพอใจว่าเราไม่ได้ละเลย เพิกเฉย และช่วยเปิดมุมมองของคนรุ่นใหม่ให้เห็นว่า SNP ทำเรื่องนี้อยู่ เขาก็อยากจะสนับสนุน บางคนซื้อผลิตภัณฑ์ เพราะเห็นว่า SNP ดูแลสิ่งแวดล้อม และกลับมาเป็น P คือ profit ทั้งที่ไม่ได้หวังในจุดนี้ หวังเพียงให้เรื่องความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการการทำงาน แต่ perception เหล่านี้มันเกิดขึ้นเอง
“ต้องบอกว่า เอสแอนด์พีทำเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่เพราะเป็นกระแส แต่อยากทำให้เกิดขึ้นจริงๆ และปี 2566 SNP จะครบรอบ 50 ปี จึงอยากสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่า SNP อยู่มาถึงวันนี้ เป็นร้านอาหารของคนไทย อยากดูแลสุขภาพให้คนไทย และอยู่กันไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่อยู่คนเดียว แต่อยู่อย่างยั่งยืนไปกับทุกคนที่อยู่รอบตัวเราด้วย”