Submitted on Wed, 2022-12-21 15:21
- ผู้นำฝ่ายค้านฯ เผยยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปปลาย ธ.ค. นี้ คาดสามารถอภิปรายได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือน ม.ค. 66 พร้อมมองการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ไม่เหมาะสม
- ‘ส.ส.ก้าวไกล’ โต้ ส.ว. อ้างบิดเบือน ถ่วงญัตติเสนอ ครม. ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ยัน ชี้แจงข้อกังวลครบแล้ว
21 ธ.ค. 2565 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมการเพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าขณะนี้จัดทำรายละเอียดในญัตติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอหากพรรคฝ่ายค้านจะขอเปลี่ยนแปลงในประเด็นใดภายในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ ก่อนตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้ายและให้สมาชิกร่วมลงชื่อ คาดจะยื่นเสนอต่อประธาน สภาผู้แทนราษฎรได้ ในวันที่ 27 หรือ 28 ธ.ค. และสามารถอภิปรายได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือน ม.ค. 66 ส่วนข้อถามเกี่ยวกับกรณีหากมีการประกาศยุบสภานั้น ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่า หากมีการประกาศยุบสภาในขณะที่รัฐบาลทราบว่าจะมีการอภิปรายทั่วไปเกิดขึ้น ย่อมถือเป็นการหนีการอภิปรายฯ ทั้งที่เป็นเพียงการสอบถามข้อเท็จจริงเสนอแนะประเด็นที่เป็นปัญหา ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบ
ชลน่าน ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ว่าเดิม พีระพันธุ์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่การตั้งครั้งนี้ตนเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะอาจมองได้ว่าเป็นการแต่งตั้งที่เอื้อให้กับพรรคการเมืองที่มีกระแสข่าวว่านายกฯ จะเข้าไปสังกัดพรรค ซึ่งหากพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำหรือชี้นำให้เกิดการทำกิจกรรมตามแนวทางของพรรคไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม ถือเป็นการครอบงำชี้นำทำให้สมาชิกพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งในทางการเมืองขาดอิสระในการดำเนินงาน
สมคิด เชื้อคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)อุบลราชธานี พร้อมด้วย ดะนัย มะหิพันธ์ ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง คือ พีระพันธุ์ มารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยตั้งข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งนักการเมืองที่อยู่คนละพรรคให้ได้รับตำแหน่งสำคัญ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในทางการเมือง ไม่สมควรปฏิบัติ ตนมองว่าใกล้เวลาที่จะเลือกตั้งใหม่แล้ว การแต่งตั้งตำแหน่งในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่เอาเปรียบเนื่องจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติทุกเรื่องได้แทนนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้อำนาจที่เกินเลย และขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบว่าการแต่งตั้งดังกล่าวซึ่งมาจากสมาชิกคนละพรรคว่าเหมาะสมและสามารถทำได้หรือไม่
‘ส.ส.ก้าวไกล’ โต้ ส.ว. อ้างบิดเบือน ถ่วงญัตติเสนอ ครม. ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ยัน ชี้แจงข้อกังวลครบแล้ว
ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงกรณีวุฒิสภาขอขยายเวลาออกไปอีก 45 วัน เพื่อพิจารณาญัตติที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน เสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติ ให้จัดประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ว่าตนต้องแถลงข่าวในวันนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค. 2565) สมชาย แสวงการ ส.ว. ได้กล่าวบิดเบือนในที่ประชุมวุฒิสภา โดยเอ่ยชื่อตน และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ว่าเป็น ส.ส.ผู้เสนอญัตติ แต่กลับไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นเหตุผลให้คณะกรรมาธิการต้องขยายเวลาพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าวออกไปอีก 45 วัน
“เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปชี้แจงญัตติแก่กรรมาธิการชุดนี้ ในที่ประชุมวุฒิสภาก็มีข้อห่วงใย 3 ประการ ผมได้ตอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจนสิ้นข้อสงสัย เชื่อว่าน่าจะประกอบเพียงพอสำหรับการลงมติในที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ใช่การมาขอขยายออกไป 45 วันเช่นนี้” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์กล่าวว่า สำหรับ 3 ประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการชุดนี้ตั้งข้อสงสัย ประเด็นที่หนึ่ง ที่มาของญัตติ ซึ่งตนได้อธิบายแล้วว่า สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อน ญัตตินี้จึงเดินตามนั้น เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ฉบับที่สาม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 จึงเป็นเหตุให้เราเสนอญัตตินี้ในสมัยประชุมที่แล้ว
ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง คือกรอบการแก้ไข กมธ.ชุดนี้ตั้งข้อสงสัยด้วยความหวาดระแวง ว่าพรรคก้าวไกลต้องการเสนอญัตตินี้เพื่อแตะเนื้อหาหมวดใดหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตนได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันและชี้แจงว่าที่มาที่ไปของญัตตินี้เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรอบเนื้อหาการแก้ไข เพราะกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ความหมายคือ เมื่อมีการจัดทำประชามติแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 เสียก่อน ดังนั้น กรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะแตะเนื้อหาส่วนใดไม่ได้ ที่มาที่ไปหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไม่ได้อยู่ในชั้นพิจารณานี้ แต่อยู่ในการพิจารณาชั้นต่อไปหลังทำประชามติแล้ว
ณัฐพงษ์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 คือเรื่องการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้ง ตนได้ชี้แจงแต่ก็มีข้อสงสัยกลับมาว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นอาจขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ประชามติ หรือไม่ เพราะ พ.ร.บ. ประชามติปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้งทั่วไป ตนได้ชี้แจงแก่ กมธ. ไปว่า จะมีการจัดทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนที่บอกว่าให้จัดพร้อมกับวันเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงข้อเสนอและข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนในฐานะผู้เสนอญัตติทราบข้อห่วงใยนี้มาตั้งแต่ต้น และได้พิจารณาศึกษามาอย่างรอบคอบ ได้มีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ประชามติ เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมาตรา 77 เพื่อแก้ไขให้สามารถทำประชามติพร้อมเลือกตั้งได้ เช่น ใช้คูหาเลือกตั้งเดียวกันได้ บุคลากรเดียวกันได้ และปลดล็อกเงื่อนเวลา ว่า ครม. มีอำนาจในการเลือกวัน หากเห็นว่าวันเลือกตั้งไม่เหมาะสม ก็จัดวันอื่นได้
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ขอยืนยันในฐานะผู้เสนอญัตติ ว่าข้อสงสัยทั้ง 3 ประเด็นได้ถูกชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว การขอขยายระยะเวลาศึกษาไปอีก 45 วัน จึงเป็นเพียงการเตะถ่วงทางการเมืองเท่านั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันจับตาการทำงานของวุฒิสภาและส่งเสียงกดดัน เพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
2022-12-21 15:21
ข่าวรอบวัน
2022-12-21 21:35
2022-12-21 20:19
2022-12-21 19:24
2022-12-21 17:45
2022-12-21 17:39
2022-12-21 16:40
2022-12-21 15:21
2022-12-21 15:03