ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พื้นที่ทั่วประเทศไทยจะถูกประกาศยกเลิกการเป็นพื้นที่เฝ้าระวังจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั่นอาจหมายความว่า
ประเทศไทยไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 อีกต่อไป แต่มิได้หมายความว่าเชื้อโรคนี้จะหมดไปจากประเทศไทย เพราะการมีเชื้ออยู่ มิได้หมายถึงการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่หมายความว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อได้ในระดับที่ทำให้เชื่อว่าเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงอีกต่อไป แต่ไม่ได้รับรองว่าจะไม่มีใครในประเทศนี้ติดเชื้อโควิด-19
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานเมื่อวันที่17 มิถุนายน ว่า ล่าสุดนี้ ปัญหาโควิด-19 ในไทยอยู่ในระยะขาลง เพราะฉะนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม จึงมั่นใจว่าประเทศไทยน่าจะอยู่ในช่วงระยะหลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 (post pandermic) แต่ถึงกระนั้น ก็ยังขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังดูแลตัวเองให้ห่างไกลและรอดพ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้ดีเหมือนเดิมต่อไป
จากข้อเท็จจริงที่บ่งชัดคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศของไทย จำนวน 50 จังหวัด พบว่ามีปัญหาประชาชนติดเชื้อโควิด-19 ลดลง แม้จะยังพบว่าบาง
จังหวัดอาจจะยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อยเช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ยโสธร อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ สตูล ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร กระบี่ และพิจิตร
แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป ประเทศไทยยกเลิกมาตรการ ลงทะเบียน Thailand Pass ให้กับชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศไทย และยกเลิกการคัดกรองการวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงยกเลิกการกำหนดเงินประกันต่างๆ เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย แต่ทั้งนี้ผู้เดินทางเข้าไทยจะต้องแสดงเอกสารว่าได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบจำนวนแล้ว และต้องแสดงผลการตรวจเชื้อว่าร่างกายไม่มีเชื้อโควิด-19
การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยนั้น มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพราะในยามนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการ (อันที่จริงต้องบอกว่ารัฐบาลไทยต้องการ) มากเป็นอันดับแรกคือ เงินตราจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายมหาศาลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย
ดังนั้น หากรัฐบาลไทยยังคงตั้งเงื่อนไขต่างๆ นานามากมายจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ก็หมายความว่าโอกาสที่ไทยจะได้รับเงินตราต่างชาติก็จะลดน้อยลงไป เพราะชาวต่างชาติจะเปลี่ยนใจไปเที่ยวในประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ต่างจากประเทศไทย แต่ให้ความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าประเทศมากกว่า
ต้องยอมรับว่ารายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงประเทศได้ในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อดูจากตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวประจำปี 2564 พบว่าแม้ในยามที่โลกทั้งโลกรวมถึงไทยประสบปัญหาจากโควิด-19 อย่างรุนแรงมาก แต่ไทยก็ยังได้รายได้จากการท่องเที่ยว 3.84 ล้านบาท โดยแยกเป็นรายได้จากคนไทยที่เที่ยวไทยด้วยกันเองเป็นเงิน 3.6 แสนล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 2.4 หมื่นล้านบาท
นั่นหมายความว่า ในยามที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากเหมือนช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยก็ยังพอมีเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจจากเงินของคนไทยด้วยกันเองอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ากำลังการซื้อบริการเพื่อการท่องเที่ยวโดยคนไทยด้วยกันเองก็ยังไม่มากพอจะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศได้ดีเท่ากับอำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวของปี 2564 เทียบกับรายได้ของปี 2563 ลดลง 21 เปอร์เซ็นต์ (รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 4.82 แสนล้านบาท)
เมื่อดูจากข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อการท่องเที่ยวของไทย และการท่องเที่ยวในทุกประเทศทั่วโลกอย่างมาก
ปัญหาการแพร่ระบาดทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลง อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย สะสมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2563 มีจำนวน 6.7 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีตัวเลขประมาณ 39.9 ล้านคน หรือลดลงประมาณ 83.2 เปอร์เซ็นต์
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก โดยพบว่าช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2563 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 332,013 ล้านบาทลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1,911,808 ล้านบาท (ลดลง 82.6 เปอร์เซ็นต์)
กล่าวได้ว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19ที่มีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย เช่น โรงแรมร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สปา รถเช่า ร้านขายของที่ระลึก และมัคคุเทศก์ ทำให้คนในแวดวงธุรกิจต่างๆ ตกงานเป็นจำนวนมาก และพบว่ามีการปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
จึงกล่าวได้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นเมื่อขาดรายได้จากการท่องเที่ยวจึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่นๆ อันเกิดจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น คำสั่งปิดเมือง (Lock down) ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การประกาศปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้น
มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวและการจองห้องพัก และยังพบว่า
หน่วยงานต่างๆ ยกเลิกการจัดประชุมสัมมนาในโรงแรมส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างหนัก
เมื่อพิจารณาอัตราการเข้าพักในปี 2563 เทียบกับอัตราการเข้าพักในช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าอัตราการเข้าพักลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ซึ่งมีอัตราเข้าพักอยู่ที่ 2.26 และ 3.83 และ 13.43 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค จะพบว่าแม้อัตราการเข้าพักจะลดลงในทุกภูมิภาคในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่อัตราการเข้าพักในเขตจังหวัดภาคใต้ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ
สิ่งที่ระบุมาในข้างต้นนั้นคือภาพจริงในอดีตที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ แต่ปัจจุบันภาพจริงภาพใหม่ที่ดูเสมือนกำลังจะเข้ามาลบภาพเดิม เพราะตั้งแต่รัฐบาลไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่ยกเลิก Test and Go ทำให้มีผู้เดินทางเข้าไทยด้วยเครื่องบินมากขึ้น โดยพบว่าวันที่ 1-21 พฤษภาคม มีผู้เดินทางเข้าไทย 367,449 คน เฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคน
เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เป็นลำดับก็ทำให้เกิดความหวังว่าจะเร่งและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทยมากยิ่งขึ้น โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหมายว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2565 นี้ ซึ่งปกติถือว่าเป็นช่วง Low Season ด้านการท่องเที่ยวของไทย แต่น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมาจากประเทศที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก เช่น อินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศต่างๆ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องบิน และคาดการณ์ว่าในช่วงHi Season จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน โดยจะมีนักท่องเที่ยวจากระยะไกล เช่น ยุโรป สหรัฐฯ เข้ามาด้วย และก็คาดว่าในช่วงตรุษจีนปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าไทยมากขึ้น เป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม ททท. คาดหมายว่าในปี 2565 นั้น จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2565 ที่ 1.5ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับปี 2562ก่อนเจอวิกฤตโควิด-19
และคาดว่าในปี 2566 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวน 20 ล้านคน
ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดหวังดังที่ได้นำเสนอมานี้ เป็นตัวเลขที่ทำให้ประเทศไทยมีความหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และก็คาดหวังว่าตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้นี้จะบรรลุเป้าประสงค์ แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ความพยายามของรัฐบาล และคนไทยทุกคนที่จะทำให้ความหวังนี้เป็นจริงด้วย เพราะหากรัฐบาลและคนไทยทุกคนทำให้เกิดความเป็นปกติแบบใหม่ (New Normal)ในประเทศของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น