เมื่อวันนี้ 7 เมษายน นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีแผนสนับสนุนให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นศูนย์กลางด้านสมุนไพร และอนุมัติให้เป็นพื้นที่นำร่องในการปลูกกัญชาทางการแพทย์ และให้มีการบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล นั้น จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ดำเนินการให้โรงพยาบาลทั้ง 7 แห่ง เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล ให้คำปรึกษาสุขภาพ และคำแนะนำกัญชาทางการแพทย์ พร้อมตรวจรักษาด้วยตำรับยาสมุนไพรกัญชา โดยมีศูนย์แพทย์แพทย์แผนไทยพนา เป็นสถานที่ผลิตผลิตตำหรับยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จำนวน 16 ตำหรับ อาทิ ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาริดสีดวง และน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา ฯลฯ สนับสนุนให้กับคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่ง โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ได้รับการรักษายากัญชาทางการแพทย์ 715 ราย และร้อยละ 19.20 ของผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษายากัญชาทางการแพทย์
สำหรับคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยทุกแห่งมี 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1. มีแพทย์แผนไทยที่สั่งการรักษาผ่านการอบรมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
2. สถานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
3. เวชภัณฑ์ได้รับอนุญาตผลิตตามมาตรฐาน WHO-GMP/ ผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดำเนินการจัดส่งโดยองค์การเภสัชกรรม
4. มีแนวเวชปฏิบัติ (CPG) จากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ในส่วนของการให้บริการนั้นจะมีการคัดกรองอย่างเป็นระบบ ตามแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
เกณฑ์การเข้ารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย จะต้องผ่านการคัดกรองตามระบบของโรงพยาบาล ดังนี้
– ผู้รับบริการต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
– มีสัญญาณชีพและอาการทางคลินิกคงที่ มีการรับรู้และสติสัมปชัญญะดี สามารถสื่อความหมายเข้าใจ
– ได้รับการรักษาด้วยยาขนานแรกและวิธีการมาตรฐานทางการแพทย์แผนไทยแล้วอาการไม่ดีขึ้น
– โดยแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ พิจารณาเห็นสมควรได้รับการรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา จึงจะได้รับการรักษา
นพ.ปฐมพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ขณะนี้จังหวัดอำนาจเจริญได้รับอนุญาตและดำเนินการปลูกแล้ว 2 แห่ง คือ ที่ รพ.สต.โนนดู่ ร่วมกับ วิสาหกิจภูมิใจอำนาจเจริญพืชเศรษฐกิจสมุนไพรปลูกจำนวน 48 ต้น ได้ผลผลิต ดังนี้ ใบสด 4–9 กิโลกรัม/แห้ง 18 กิโลกรัม ,รากสด 30 กิโลกรัม/แห้ง 22 กิโลกรัม , ลำต้นสด 70 กิโลกรัม/แห้ง 40 กิโลกรัม , ช่อดอก 3,050 กรัม รายได้รวมจากการจำหน่าย 140,000 บาท เหลือกัญชาแห้ง ประมาณ 20 กิโลกรัม และอีกแห่งที่โรงพยาบาลชานุมานร่วมกับกลุ่มยางพาราห้วยทมน้อย ม.11 ได้ผลผลิตเป็น กัญชาแห้ง 23 กิโลกรัม รายได้รวมจากการจำหน่าย 86,530 บาท เหลือกัญชาแห้ง 23 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 121,860 บาท และมีวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการขออนุญาตผลิตกัญชา จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 5 แห่ง และวิสาหกิจชุมชนที่ขออนุญาตปลูกอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสารและเตรียมสถานที่ จำนวน 8 แห่ง
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่